12 ก.ค. 2011
มรส. ย้อนรอยเมืองเก่าพุมเรียง
“พุมเรียง” เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานกว่า ๒,๐๐๐ ปี ตั้งอยู่ที่ ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ห่างจากฝั่งทะเลเพียง ๑ กิโลเมตร ในอดีตพุมเรียงเป็นเมืองประมงที่มีความสำคัญยิ่งของนครรัฐไชยา ด้วยว่าเคยเป็นแหล่งจอดเรือสินค้าข้ามสมุทรมาแต่ครั้งอาณาจักรศรีวิชัย เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมพุมเรียงที่เลื่องชื่อไปทั่วโลก ทั้งยังเป็นสถานที่ที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกพลมาประทับก่อนยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อรวบรวมไพร่พลไปกู้กรุงศรีอยุธยา กอปรกับการที่พุมเรียงเป็นแผ่นดินถิ่นเกิดของปราชญ์โลกอย่างท่านพุทธทาสก็ ยิ่งทำให้เมืองเก่าแห่งนี้มีความสำคัญครบถ้วนในทุกมิติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นพุมเรียงจึงเป็นประเด็น ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นไม่อาจมองข้าม
เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรส. จึงจับมือกับมูลนิธิเดโช สวนานนท์-ราชภัฏ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเวทีศิลปวัฒนธรรมพุมเรียงขึ้น ณ โรงเรียนวัดพุมเรียง โดยระดมนักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน นักศึกษาและประชาชนที่สนใจกว่า ๒๐๐ คน มาร่วมกันย้อนรอยประวัติศาสตร์อันยาวนานของพุมเรียง เดินเท้าสำรวจร่องรอยความรุ่งเรืองและวิถีชีวิตชาวพุมเรียง พร้อมร่วมกันกำหนดแนวทางอนุรักษ์
คุณเดโช สวนานนท์อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งประกาศตนว่า “ผมเป็นลูกหลานชาวพุมเรียง” บอกว่า ภาพพุมเรียงในอดีตเมื่อครั้งตนยังเป็นเด็กกับภาพในวันนี้ไม่ได้เปลี่ยนไปมาก นัก เช่น ในอดีตพุมเรียงมีชาวบ้านต่างเชื้อชาติศาสนาอาศัยอยู่รวมกัน ทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิมและชาวจีน ท่านพุทธทาสเองก็ยังมีชาวมุสลิมเป็นสหายทางธรรมแลกเปลี่ยนธรรมะกันอยู่ เนืองๆ ซึ่งปัจจุบันการอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความแตกต่างก็ยังมีให้เห็น พุมเรียงจึงเป็นโมเดลของการอยู่ร่วมกันที่น่ายึดถือและสามารถใช้เป็นกรณี ศึกษาได้
“คนรุ่นใหม่ไม่รู้ปูมของตัวเอง ไม่รู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไม่รู้ความเป็นมาของชุมชน จึงขาดความภาคภูมิใจในรากเหง้า เมื่อไม่รู้จึงไม่ตระหนัก เมื่อไม่รู้จึงไม่เห็นความสำคัญ เมื่อไม่รู้จึงไม่อนุรักษ์ โดยหารู้ไม่ว่า หากเราไม่รู้จักกำพืด หรือรากเหง้าของตนเองแล้ว ก็เปล่าประโยชน์ที่จะพูดถึงอนาคต” คุณเดโชกล่าว
ส่วน รศ.โรจน์ คุณเอนก อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งวันนี้พาภรรยาและลูกชายวัย ๖ ขวบมาด้วย เพราะอยากให้ลูกได้ซึมซับบรรยากาศความเป็นเมืองเก่าของพุมเรียง บอกว่า การรักษาและคงสภาพเมืองเก่าเอาไว้จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ปูมประวัติศาสตร์ เกิดความภาคภูมิใจในรากเหง้าของตน และสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้ โดย รศ.โรจน์ได้ยกตัวอย่างอาคารเก่าสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ท่านพุทธทาสเคยเรียนในวัยเด็กว่า หากเด็กในยุคปัจจุบันได้มาเรียนที่นี่และบอกให้พวกเขารู้ว่านี่คือ ห้องเรียนที่ปราชญ์ของโลกเคยนั่งเรียน เคยอ่านตำรา เคยทำการบ้าน จะเกิดพลังและแรงบันดาลใจถ่ายทอดถึงเด็กๆ อย่างมากมายมหาศาลเพียงใด
“อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์อาคารเก่านั้นต้องอนุรักษ์สภาพแวดล้อ
มร่วมด้วย เช่น ปราสาททองคำคินคะคุจิ ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่ได้อนุรักษ์แค่ตัวอาคาร แต่อนุรักษ์ทั้งบรรยากาศ ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม นามธรรมต่างๆ รวมทั้งการไม่ปลูกอาคารสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ในบริเวณใกล้เคียง ทำให้เมื่อคนรุ่นใหม่เข้าไปในสถานที่แห่งนี้ เรื่องราวในอดีตจะพรั่งพรูออกมา สามารถซึมซับเอาจิตวิญญาณและความรู้สึกไว้ได้อย่างลึกซึ้ง เป็นสายใยเหนียวแน่นที่ผูกพันคนรุ่นหลังกับบรรพบุรุษ” รศ.โรจน์กล่าว
มร่วมด้วย เช่น ปราสาททองคำคินคะคุจิ ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่ได้อนุรักษ์แค่ตัวอาคาร แต่อนุรักษ์ทั้งบรรยากาศ ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม นามธรรมต่างๆ รวมทั้งการไม่ปลูกอาคารสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ในบริเวณใกล้เคียง ทำให้เมื่อคนรุ่นใหม่เข้าไปในสถานที่แห่งนี้ เรื่องราวในอดีตจะพรั่งพรูออกมา สามารถซึมซับเอาจิตวิญญาณและความรู้สึกไว้ได้อย่างลึกซึ้ง เป็นสายใยเหนียวแน่นที่ผูกพันคนรุ่นหลังกับบรรพบุรุษ” รศ.โรจน์กล่าว
และไม่เพียงเปิดเวทีศิลปวัฒนธรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเท่านั้น แต่กิจกรรมในวันนี้ยังมีการเดินเท้า ทัศนาจรย่านเมืองเก่าพุมเรียงด้วย โดยเริ่มต้นที่วัดโพธาราม แล้วเดินต่อเข้าไปในชุมชนที่ตั้งอยู่รายรอบวัด ทำให้ได้เห็นวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมที่ยังคงไว้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงไหว เคลื่อนไปตามกระแสโลก เราได้เห็นบ้านเกิดเดิมของท่านพุทธทาส ที่ชั้นบนยังคงรักษาบ้านไม้รูปแบบเก่าเอาไว้ ส่วนชั้นล่างดัดแปลงเป็นร้านขายวัสดุก่อสร้าง เราได้แวะเยือนร้านขายยาแผนโบราณที่สืบทอดภูมิปัญญากันมาจากรุ่นสู่รุ่น ได้พูดคุยทักถามผู้อาวุโสในชุมชนที่ยังคงจดจำเรื่องราวในวันวานได้ดี ราวกับมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน
เมืองเก่าแห่งนี้กำลังเดินทอดน่องอย่างเนิบช้า อยู่ในเข็มแห่งกาลเวลาที่หมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ราวกับว่ากำลังเฝ้ารอให้ลูกหลานคนรุ่นหลังเข้าไปซึมซับจิตวิญญาณและสัมผัส สายใยอันเหนียวแน่นที่ร้อยรัดคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เข้าไว้ด้วย กัน…อย่างลึกซึ้ง
วันวนัทธ์ วรภู เรื่อง / สมยศ นุ่นจำนงค์ ภาพ