19 ส.ค. 2011

หวั่นมหาวิทยาลัยแยกตัว-ถูกสังคมลืม มรส.ผุด ‘ยูเอสอาร์’ ตอบแทนสังคม

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ขับเคลื่อนโครงการ ‘เอสอาร์ยู : ยูเอสอาร์’ เดินเครื่องรับผิดชอบต่อสังคม ๗ คณะ และหน่วยงานผุดโครงการย่อยรับใช้สังคมตามศาสตร์ ดึงนักศึกษาเข้าร่วม สอนให้ตระหนักถึงความสำคัญขององคาพยพ พร้อมปลูกฝังจิตสาธารณะไปในตัว อธิการบดีชี้ หากสถาบันอุดมศึกษาไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสังคมจะสูญหายไปจากความรู้สึกของ สังคม

ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ มรส. ได้จัดโครงการ “เอสอาร์ยู : ยูเอสอาร์” (SRU : USR) ขึ้นเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม โดย SRU ย่อมาจากชื่อของมหาวิทยาลัย คือ Suratthani Rajabhat University ส่วน USR ย่อมาจาก University Social Responsibility หมายถึง ความรับผิดชอบที่สถาบันอุดมศึกษาพึงมีต่อสังคม โดยคณะทั้ง ๗ และหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยจะสร้างโครงการย่อยของตนเองเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมตาม ศาสตร์และตามความถนัดของตน เช่น คณะครุศาสตร์จะช่วยดูแลและยกระดับคุณภาพของโรงเรียนขั้นพื้นฐาน คณะพยาบาลศาสตร์ช่วยดูแลสุขภาพและสุขอนามัยของคนในท้องถิ่น สำนักศิลปะและวัฒนธรรมจัดเวทีศิลปวัฒนธรรมสัญจรเพื่อให้ความรู้และอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่างๆ เป็นต้น

อธิการบดี มรส. กล่าวต่อไปว่า นอกจากคณะและหน่วยงานต่างๆ ที่จะร่วมขับเคลื่อนโครงการย่อยในการรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว นักศึกษาก็จะร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้ด้วย เพื่อให้นักศึกษาเกิดความตระหนักว่า หากส่วนรวมพังทลาย ส่วนย่อยก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ตรงกันข้าม หากส่วนรวมยืนหยัดได้อย่างเข้มแข็งมั่นคง ส่วนย่อยก็จะพลอยเข้มแข็งมั่นคงไปด้วย การให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมจึงเป็นการสอนให้นักศึกษาเข้าใจถึงความหมาย และความสำคัญขององคาพยพที่ไม่อาจแยกส่วนของสังคมออกจากกัน ทั้งยังเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้จบออกไปพร้อมกับจิตสาธารณะที่ยิ่งใหญ่และ ยั่งยืน

“สถาบันอุดมศึกษาไม่อาจละเลยเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมได้ ต้องดำเนินงานทางสังคมควบคู่ไปกับพันธกิจด้านอื่นๆ ด้วย เพราะสถาบันอุดมศึกษาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ยืนหยัดอยู่ร่วมกับสังคมและเป็นฝ่ายรับจากสังคมเหมือนกัน ดังนั้นต้องคืนกลับให้กับสังคมด้วย กอปรกับการที่สถาบันอุดมศึกษาเองก็มีต้นทุนและศักยภาพทั้งในเชิงวิชาการ องค์ความรู้ บุคลากรและเทคโนโลยีพร้อมอยู่ในมือแล้ว จึงอยู่ในสถานะที่จะเป็นผู้ตอบแทนสังคมได้อย่างเต็มที่ หากวันนี้สถาบันอุดมศึกษามุ่งเพียงพันธกิจวิชาการ โดยไม่อินังขังขอบกับสังคม ไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสังคม ภายในเวลาไม่นานสถาบันอุดมศึกษาก็จะสูญหายไปจากความรู้สึกของสังคมในที่สุด” ผศ.ดร.ณรงค์กล่าว