03 ธ.ค. 2020

ว่ากันด้วยเรื่องหอย ๆ

หอยแครงนับว่าเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนชายฝั่ง สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ภายใต้การนำของ ดร. วัชรี รวยรื่น และคณะ ได้นำนักศึกษาร่วมลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศในการเพาะเลี้ยงหอยแครงในพื้นที่อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งที่ให้ผลผลิตหอยแครงที่สูงสุดของประเทศไทย และมีเงินหมุนจากกิจกรรมการหอยแครงปีละหลายพันล้านบาท การศึกษานิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์หอยแครง เป็นกิจกรรมย่อยส่วนหนึ่งในโครงการ “นิเวศวิทยาและชีววิทยาการสืบพันธุ์ของหอยแครงในอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงหอยแครงอย่างยั่งยืน” ซึ่งได้ร่วมดำเนินการวิจัยกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

โดยจากการเก็บรวบรวมข้อมูลการกระจายพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์ ข้อมูลปัจจัยทางกายภาพและเคมีของน้ำ รวมถึงตะกอนดินในแหล่งที่อยู่อาศัยของเลี้ยงหอยแครง ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ในแหล่งกระจายพันธุ์ที่สำคัญ ซึ่งประกอบไปด้วย ในเขตพื้นที่อำเภอท่าฉาง พื้นที่ต่อเนื่องระหว่างอำเภอพุนพินและอำเภอเมือง และอำเภอกาญจนดิษฐ์ และทำการเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมในสถานีศึกษาทั้งสิ้นรวม 9 สถานี ดังแสดงในภาพที่ 1

ภาพที่ 1 แผนที่การเก็บรวบรวมข้อมูลการกระจายพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์ และการเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อม

ผลการศึกษาในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาซึ่งเป็นตัวแทนข้อมูลฤดูฝน พบว่า ค่าอุณหภูมิน้ำ ความเค็ม ค่าออกซิเจนละลายน้ำ ค่าการนำไฟฟ้า (EC) ความลึก ปริมาณสารแขวนลอย แอมโมเนีย ไนเตรท ไนไตรท์ และฟอสเฟต อยู่ในช่วง 28.00-31.85 C, 1.8-20 ppt, 2.70-9.19 mg/L, 12.20-30.7 mS/cm, 0.40-3.0 เมตร, 0.035-0.360 mg/L, 0.04-0.36 mg-N/L, 0.04-0.09 mg-N/L, 0.00-0.03 mg-N/L, 0.001-0.003 mg-P/L ตามลำดับ ในขณะที่ค่า pH และ ปริมาณสารอินทรีย์ในตะกอนดินมีค่าอยู่ในช่วง 7.28-7.91 และ 1.90-3.01 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งในช่วงฤดูฝนเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยแครงจำเป็นต้องเฝ้าระวังภาวะการเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ เพราะมีผลกระทบโดยต่อการเจริญเติบโตของหอย โดยเฉพาะในเรื่องค่าความเค็มของน้ำ ดังนั้นการติดตามปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้สามารถช่วยลดความเสียหายอันเกิดมาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมได้ ตลอดเป็นข้อมูลให้ประชาชนทั่วไปที่อยู่บนฝั่ง ช่วยกันลดกิจกรรมต่างๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเลี้ยงหอยในอ่าวบ้านดอน ไม่เพียงแค่หอยแครงเท่านั้น แต่ในอ่าวบ้านดอนยังเป็นแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญสำหรับการบริโภคของทุกคน

alt

การดำเนินการวิจัยยังต้องทำต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ทางด้านทางด้านนิเวศวิทยา และการกระจายพันธุ์ของหอยแครงที่ชัดเจน ของอ่าวบ้านดอน เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรหอยแครงที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพ ได้ฐานข้อมูลพ่อแม่พันธุ์หอยที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดเป็นแหล่งอนุรักษ์ หรือแผนแม่บทหรือข้อบัญญัติของท้องถิ่นในการอนุรักษ์และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งต่อไป

ที่มา: ดร. วัชรี รวยรื่น และคณะ