ม.ราชภัฏสุราษฎร์ฯ จัดประชาพิจารณ์รอบสองร่วมออกแบบ "มหาวิทยาลัยที่ทุกคนอยากเห็น"
ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีเดินหน้าทำประชาพิจารณ์แผนพัฒนามหาวิทยาลัยรอบ 2 ระดมสมองบุคคลภายนอกร่วมออกแบบมหาวิทยาลัยที่ทุกคนอยากเห็น จ่อคิวทำประชาพิจารณ์รอบ 3 สำหรับนักศึกษา
ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล อธิการบดีมหาวิทยาราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564) และได้จัดทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 1 สำหรับอาจารย์และบุคลากรไปแล้วนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา มรส.ได้ดำเนินการทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 สำหรับบุคคลภายนอก ณ ห้องจีเอ 102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โดยมีนายสมพร ใช้บางยาง อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมบรรยายเรื่อง “แนวทางการประชาพิจารณ์แผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี”
อธิการบดี มรส.กล่าวต่อไปว่า ผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ในครั้งนี้เป็นบุคคลจากภายนอก ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ศิษย์เก่าและสื่อมวลชน มีผู้สนใจเข้าร่วมราว 200 คน โดยมหาวิทยาลัยจะนำเอาความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ได้มาปรับปรุงแก้ไขร่างดังกล่าวให้กลายเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่สมบูรณ์ สามารถขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติต่อไป
“หลังจากนี้มหาวิทยาลัยจะดำเนินการทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 3 ต่อ โดยจะเชิญนักศึกษามาเข้าร่วม อีกนัยหนึ่ง การทำประชาพิจารณ์ก็คือการระดมสมองจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาร่วมกันออกแบบมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยในแบบที่ทุกคนอยากเห็นนั่น เอง” อธิการบดีกล่าว
ด้าน ดร.วัฒนา รัตนพรหม รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนาและวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเพื่อให้การพัฒนามหาวิทยาลัยมี ทิศทาง มีแผนที่ชัดเจนในการจัดการศึกษาในโลกอนาคต ไม่ใช่พัฒนาอย่างสะเปะสะปะ สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เราเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น มีปรัชญาว่า “สร้างปัญญาเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” และมีวิสัยทัศน์ว่า “มหาวิทยาลัยต้นแบบแห่งภูมิภาคเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” ดังนั้น แผนพัฒนาของเราจึงมุ่งเน้นไปที่การตอบสนองต่อปรัชญาและวิสัยทัศน์ดังกล่าว
“มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้ทำแผนพัฒนา 15 ปีเอาไว้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะละ 5 ปี ดังนี้ ระยะแรก พ.ศ. 2555-2559 กำหนดให้เป็นวาระของมหาวิทยาลัยแห่งอาเซียน พ.ศ. 2560-2564 เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการรับใช้ชุมชนท้องถิ่นในระดับอาเซียน และ พ.ศ. 2565-2569 เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศ ซึ่งเราต้องการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 3 กลุ่ม คือ 1. อาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัย 2. บุคคลภายนอก และ 3. นักศึกษา ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อแผนพัฒนาดังกล่าว โดยจากการทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 ในวันนี้ เราได้รับการตอบรับที่ดียิ่ง ได้มุมมองความคิดใหม่ ๆ อันจะนำไปสู่การจัดการศึกษาในอนาคตในแบบที่เราทุกคนอยากเห็นต่อไป” รองอธิการบดีกล่าว
{AdmirorGallery}news-evens/Public-Hearing-SRU{/AdmirorGallery}