ราชภัฏสุราษฎร์ฯ ขานรับมติ ครม.ต้านทุจริตป้องปรามผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำงาน
ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีขานรับมติ ครม.เรื่องคุณธรรมและความโปร่งใส เร่งป้องปรามการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำงาน พร้อมปลูกฝังค่านิยมต้านทุจริต เทียบเชิญผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ติวเข้มบุคลากร อธิการบดีชี้ ผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาและประเทศชาติ
ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ได้ขานรับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2559 ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานต้องเข้ารับการประเมินคุณธรรมและความ โปร่งใสในการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556 – 2560) ด้วยการปลูกฝังค่านิยมต้านทุจริตให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย ทั้งในกลุ่มนักศึกษา ผู้บริหาร อาจารย์และเจ้าหน้าที่
อธิการบดี มรส.กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2559 สำนักประกันคุณภาพการศึกษา มรส. ได้จัดอบรมเรื่อง “การป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนในการปฏิบัติงาน: ค่านิยมต่อต้านการทุจริต” ให้กับบุคลากรมหาวิทยาลัยจำนวน 120 คน ณ ห้องประชุมราชาวดี คณะนิติศาสตร์ มรส. เพื่อให้บุคลากรได้มีความรู้ความเข้าใจและเป็นหูเป็นตาให้กับมหาวิทยาลัยใน การป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน โดยได้รับเกียรติจากนายอุทิศ บัวศรี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. จากสำนักงาน ป.ป.ช.มาเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
“ผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ ส่วนรวม เป็นปัญหาทางการบริหารที่เป็นบ่อเกิดของการทุจริตประพฤติมิชอบ และสะท้อนปัญหาการขาดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งไม่เพียงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาองค์กรและการพัฒนาการศึกษา แต่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศด้วย ซึ่งมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตปัญญาชนควรเป็นตัวอย่างที่ดีใน การจัดการและควบคุมปัญหาดังกล่าวให้ได้” ผศ.ดร.ประโยชน์กล่าว
นายอุทิศ บัวศรี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวระหว่างการบรรยายว่า เมื่อคนทำงานมีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจหรือการปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเกิดขึ้นโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว โดยเจตนาหรือไม่เจตนา หน่วยงานบางแห่งได้ปฏิบัติเรื่องบางเรื่องสืบต่อกันมาจนไม่เห็นว่าเป็นสิ่ง ผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นการให้ความรู้แก่บุคลากรเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนจะช่วยป้องกัน แก้ไข และลดโอกาสในการเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนได้
วันวนัทธ์ วรภู รายงาน
เสาวลักษณ์ ปักษธรสันติ ข้อมูล / ภาพ