05 ก.ค. 2022

วจก. ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ดันมาตรฐานสินค้าท้องถิ่นสู่แพลตฟอร์ม Digital Marketing

หน่วยบริการวิชาการและพันธกิจสัมพันธ์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ยกระดับ/พัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างแบรนด์สื่ออัตลักษณ์ท้องถิ่น ออกแบบบรรจุภัณฑ์ สู่มาตรฐานสากล เรียนรู้ตลาดออนไลน์/ออฟไลน์ “Digital Content Marketing” แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ มุ่งสร้างรายได้อย่าง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบในท้องถิ่น ชูปลาส้ม ปลาดุกร้า ไข่สมุนไพรใบเตย ไข่เยี่ยวม้า น้ำพริกปลาทู ตลอดผ้าบาติกเพ้นท์ลาย และสบู่สครับจากกากกาแฟ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัชชารีย์ ทวีหิรัญรัฐกิจ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ พร้อมด้วยคณะดำเนินงานเป็นผู้ขับเคลื่อน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ณ ที่ว่าการอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง
.
สำหรับการดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว เป็นไปตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบาย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มุ่งเน้นการค้าการลงทุน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ ยุทธศาสตร์จังหวัดที่สะท้อนความต้องการและศักยภาพของพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยในฐานะผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ให้การพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์สินค้าหรือการบริการให้เกิดจุดเด่นที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของตลาดด้วยการยกระดับสินค้าให้เกิดมาตรฐานและนำไปสู่สินค้าหนึ่งตําบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ร่วมพัฒนาสินค้าหรือการบริการและการออกแบบให้ตรงตามความต้องการของตลาดที่ต้องการสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่า ด้วยการเพิ่มและถ่ายทอดองค์ความรู้แก่กลุ่มผู้ประกอบการให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการออกแบบและพัฒนา มีความเข้าใจด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ได้เข้าไปผลักดันให้เกิดองค์ความรู้ด้านการปรับปรุง ประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อเพิ่มมูลค่ารวมถึงการผลักดันให้สินค้าได้มาตราฐานผลิตภัณฑ์ทั้งมาตราฐาน อย. และฮาลาล

#คณะวิทยาการจัดการ
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

กนกรัตน์ ศรียาภัย /ข่าว
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร/รายงาน
คณะดำเนินโครงการบริการวิชาการและพันธกิจสัมพันธ์ คณะวิทยาการจัดการ /ภาพ