มรส.ดึง ‘ฮีโร่โอลิมปิก’ ร่วมปั้นค่ายมวย ดึง น.ศ.ห่างไกลยาเสพติด-สร้างรายได้
เผยเส้นทาง 12 ปี ‘ค่ายมวย ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี’ ดึง ‘วรพจน์ เพชรขุ้ม’ ฮีโร่โอลิมปิกขวัญใจชาวไทยร่วมปั้นนักมวยรุ่นใหม่ หวังนักศึกษาใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ ห่างไกลยาเสพติด พร้อมสร้างรายได้เป็นทุนการศึกษา
ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า มรส.ได้ก่อตั้งค่ายมวยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เพื่อสร้างนักกีฬามวยไปแข่งขันในกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยและกีฬาเยาวชน แห่งชาติ และเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาหันมาออกกำลังกาย ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และห่างไกลยาเสพติด ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง
อธิการบดี มรส.กล่าวต่อไปว่า ในปีแรก ๆ ยังไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการได้รางวัล แต่ก็ประสบความสำเร็จในแง่ที่นักศึกษาได้หันมาใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ ต่อมาในปี 2551 ได้รับเหรียญรางวัลเป็นครั้งแรกจากกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ทำให้นักศึกษามีกำลังใจในการพัฒนาตนเองมากขึ้น และหลังจากนั้นก็คว้าเหรียญรางวัลจากเวทีต่าง ๆ เรื่อยมา
“นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้เชิญนายวรพจน์ เพชรขุ้ม นักมวยฮีโร่โอลิมปิกชาวสุราษฎร์ธานี และอดีตนักมวยไทยชื่อดังเจ้าของฉายา “ศอกโลหิต” ขันติพงษ์ ต.พิทักษ์กลการ มาเป็นครูฝึกให้กับนักศึกษา ซึ่งนอกจากทั้งสองท่านจะถ่ายทอดวิชามวยให้กับนักศึกษาแล้ว ยังเป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาด้วย” อธิการบดีกล่าว
อ.นนทชัย โมรา รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มรส.ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าค่ายมวย มรส. กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักศึกษาหมุนเวียนมาเรียนมวยไทยและมวยสากลอยู่จำนวนหนึ่ง และมีนักมวยที่ฝึกซ้อมและแข่งขันอย่างสม่ำเสมออยู่ 15 คน เป็นนักมวยชาย 13 คนและนักมวยหญิง 2 คน
“นักมวยบางคนมาจากครอบครัวที่มีฐานะไม่ดีนัก ซึ่งค่ายมวยก็ส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้มีรายได้พิเศษจากการขึ้นชกหรือจากการโชว์ นักมวยบางคนสามารถนำรายได้จากส่วนนี้ส่งเสียตนเองเรียนได้โดยไม่ต้องรบกวน ผู้ปกครอง และมหาวิทยาลัยเองก็สนับสนุนทุนการศึกษาให้ด้วยส่วนหนึ่ง” หัวหน้าค่ายมวยกล่าว
น.ส.เจนจิรา แซ่เตี่ยว นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นักมวยหญิงของค่าย มรส. กล่าวว่า ตนเริ่มฝึกมวยมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ หลังเรียนจบ ม.ปลายก็ได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ซึ่งมหาวิทยาลัยสนับสนุนทั้งเส้นทางการชกมวยและการเรียน เคยได้รับเหรียญรางวัลทั้งจากกีฬาเยาวชนแห่งชาติและกีฬามหาวิทยาลัยแห่ง ประเทศไทย และได้เกรดเฉลี่ย 3.22
“ค่ายมวยดูแลนักศึกษาเหมือนคนในครอบครัว เวลาไปต่อยมวยที่ไหนอาจารย์และทีมงานก็ตามไปดูแล เมื่อมีปัญหาเรื่องการเรียนหรือแม้แต่ชีวิตส่วนตัว อาจารย์หัวหน้าค่ายมวยก็ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทุกอย่าง” น.ส.เจนจิรากล่าว
วันวนัทธ์ วรภู รายงาน
ÂÂ Adisorn Naowakoaugsorn ภาพถ่าย