26 ต.ค. 2016

มรส.จับมือท้องถิ่นดัน 6 เส้นทางท่องเที่ยวสุราษฎร์ น้อมนำกระแสพระราชดำรัส ‘ต้องระเบิดจากข้างใน’

alt

ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีจับมืออำเภอดอนสักและชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมดัน 6 เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน เผยมีศักยภาพพร้อมยกระดับสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งเชิงนิเวศ เชิงวัฒนธรรมและเชิงเกษตร พร้อมน้อมนำกระแสพระราชดำรัส “ต้องระเบิดจากข้างใน” มาเป็นแนวทาง

ผศ.ดร.สุนทร พูนเอียด รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มรส. ร่วมกับอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิด 6 เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนในอำเภอดอนสักและพื้นที่ใกล้เคียงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น โดยได้ดำเนินการสำรวจเส้นทาง จัดทำแผนที่ท่องเที่ยวและวางแผนการประชาสัมพันธ์ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่

“ทุกวันนี้อำเภอดอนสักถูกนักท่องเที่ยวมองเป็นเพียงทางผ่านสำหรับต่อเรือเฟอร์รี่ไปเยือนเกาะสมุยและเกาะพะงัน ทั้ง ๆ ที่ดอนสักมีศักยภาพและมีความน่าสนใจมากกว่านั้น มีความหลากหลายทางธรรมชาติสูง คือมีทั้งภูเขา ทะเล ป่าชายเลน น้ำตก ถ้ำ เส้นทางท่องเที่ยวก็มีทั้งเชิงนิเวศ เชิงวัฒนธรรมและเชิงเกษตร ทั้งยังมีวิถีชีวิตท้องถิ่นดั้งเดิมที่น่าสนใจ รวมทั้งการคมนาคมก็สะดวกสบาย มรส.ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นจึงลงมาดูแลในส่วนนี้ร่วมกับคนในพื้นที่” รองอธิการบดีกล่าว

นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริหารวิชาการพัฒนาท้องถิ่น เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนทั้ง 6 เส้นทางมีดังนี้ 1. ชุมชนบ้านเขากลอย จุดเด่นคือ มีบ่อน้ำผุด สปาปลา และความเชื่อเรื่องเทวดาของชาวบ้าน 2. ชุมชนหาดนางกำ จุดเด่นคือ ชายหาด ปลาโลมาสีชมพู น้ำตก เกาะและถ้ำ น้ำจืดกลางทะเล 3. ชุมชนปากคลองดอนสัก มีพื้นที่ติดทั้งทะเลและแผ่นดินใหญ่ ทำให้มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายรูปแบบ เช่น พ่อตาเขาชะโงก เจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ หาดวังหิน แหลมทวด พิพิธภัณฑ์ปลาหิน

“4. ชุมชนบ้านเกาะแรต เป็นเกาะเล็ก ๆ ในตำบลดอนสัก มีวิวทิวทัศน์สวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยวได้แก่ ศาลเจ้า เส้นทางชมวิวเพื่อชมปลาโลมาเล่นน้ำ วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน 5. ชุมชนเกาะพะลวย เป็นหมู่บ้านหนึ่งของอำเภอเกาะสมุย มีที่ท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย มีอ่าวถึง 7 อ่าว มีฝูงนกเงือก ถ้ำต่าง ๆ และยังเป็นเกาะอนุรักษ์พลังงานแห่งเดียวของไทยด้วย และ 6. ชุมชนเกาะนกเภา มีแหล่งท่องเที่ยว เช่น ชมปลาพะยูนในเขตสงวน แนวปะการัง ชายหาดล่องหน เป็นต้น” นายอรุณกล่าว

นายพิงพงค์ วิชัยดิษฐ ประธานชมรมคนรักษ์นางกำ ชุมชนหาดนางกำ กล่าวว่า การจะพัฒนาชุมชนท้องถิ่นนั้นต้องเริ่มต้นจากคนในชุมชนก่อน ดังที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตรัสไว้ว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” ซึ่งจะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสนี้มาเป็นแนวทางในการพัฒนา แต่การที่มีมหาวิทยาลัยมาช่วยเสริมและให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิชาการ ก็จะยิ่งทำให้การพัฒนานั้นเข้มแข็งและยั่งยืนมากขึ้น

วันวนัทธ์ วรภู รายงาน / ถ่ายภาพ