30 มิ.ย. 2017

มรส. ดัน ผู้ประกอบการ OTOP เพิ่มศักยภาพสู่มาตรฐานสากล นำนวัตกรรมมารองรับ

alt
ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ขานรับนโยบายของรัฐบาล เร่งพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพธุรกิจ ผลักดันการส่งออกนอกประเทศ จัดโครงการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ( OTOP ) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 ณ ห้อง VDO Conference อาคารทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
นายเตชธรรม สังข์คร ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า การอบรมในครั้งนี้เป็นการอบรมเผยแพร่ความรู้ให้แก่เครือข่ายผู้ประกอบการสินค้า OTOP ในชุมชมท้องถิ่น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น โดยผ่านกระบวนการนวัตกรรมใหม่ๆ พัฒนาทักษะเชิงลึกและภูมิปัญญา ด้วยการนำแนวคิดในการประกอบธุรกิจ การตลาด การสร้าง Brand Character การผลิตสินค้า รวมถึงการจัดการองค์กรบริหารทรัพยากรบุคคลให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน
ด้านนางสาวสุภัค เกตุเรน ทายาทสินค้าผลิตภัณฑ์ขนมจากมะพร้าวอ่อน ภายใต้ชื่อ”ขนมจากป้าฉิ่งทุ่งหลวงมะพร้าวอ่อน” ซึ่งป้าฉิ่งคือชื่อคุณแม่ที่ขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี โดยได้มีการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ของพัฒนาชุมชน อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สำหรับการอบรมในครั้งนี้เป็นประโยชน์สำหรับผลิตภัณฑ์”ขนมจาก”เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งมีแนวความคิดที่จะพัฒนาปรับเปลี่ยนวัตถุดิบจากเดิมมาดัดแปลงให้เหมาะกับยุคสมัย ด้วยการนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นมาดัดแปลงเพื่อตอบสนองและขยายตลาดกลุ่มเป้าหมาย มีการพัฒนารูปแบบ packaging ให้ดึงดูดชวนซื้อ รวมถึงการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าด้วย
สำหรับศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ( University Business Incubator : UBI ) มรส. เกิดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นหน่วยงานสร้างและพัฒนานักศึกษา/ประชาชนทั่วไปในท้องถิ่นผ่านทางเครือข่ายเชิงประเด็น C-UBI ภาคใต้ตอนบน ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมและผลักดันสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการด้วยการนำงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นช่องทางให้เกิดการประกอบธุรกิจใหม่ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีงานวิจัย นวัตกรรม องค์ความรู้ หรือเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยรองรับ พร้อมให้ความรู้เรื่องการตลาด การจัดทำบัญชี การบริหารจัดการธุรกิจ และในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น จึงเล็งเห็นความสำคัญของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้ได้รับการพัฒนาเป็นที่ยอมรับเพื่อออกสู่สากลต่อไป

กนกรัตน์ ศรียาภัย นักประชาสัมพันธ์ / ข่าว