12 ธ.ค. 2017

แถลงข่าว การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏสุราษฎร์ธานีวิจัย ครั้งที่ 13

การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏสุราษฎร์ธานีวิจัย ครั้งที่ 13 “งานวิจัยและนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ตามศาสตร์พระราชา” เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560 ณ ห้องพลังแผ่นดิน อาคารเรียนรวมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ( คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี )

รศ.ดร. ชูศักดิ์ เอกเพชร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี(มรส.) เปิดเผยว่า “งานวิจัยและนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ตามศาสตร์พระราชา” เพราะพันธกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของ มรส. คือการทำวิจัย และการทำงานวิจัยต้องมีนวัตกรรมให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริง ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงทำให้ดูเป็นแบบอย่างซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น”ศาสตร์พระราชา” ที่คนไทยทั้งปวงควรได้เรียนรู้และนำมาทำตามมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานียินดีที่จะเชิญนักวิจัยนักการศึกษาและผู้เข้าร่วมจากทั่วโลกมาร่วมให้ความรู้และภูมิปัญญาในการวิจัย กิจกรรมการวิจัยกรณีศึกษาหรือการปฏิบัติที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ความสนใจทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติในรูปแบบต่างๆได้ครบทุกมิติ

ด้าน ผศ.โสภณ บุญล้ำ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (มรส.)เจ้าของผลงานวิจัยดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในหัวข้อผลของระดับสาหร่ายหางกระรอก ในอาหารเป็ดไข่ต่อสมรรถนะการเจริญเติบโต เปิดเผยว่า การทดลองงานวิจัยเรื่อง เทคโนโลยีการใช้สาหร่ายหางกระรอกและรำข้าวสาลีหมักยีสต์ในอาหารเป็ด จะช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดได้ใน 3 ทาง คือ 1.ลดต้นทุนค่าอาหารเพราะเป็นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำเป็นอาหารเป็ด 2.เพิ่มคุณค่าทางโภชนะในอาหารเป็ดทำให้เป็ดมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และ 3.ทำให้เป็ดออกไข่ฟองโตไข่ดกขึ้นและไข่แดงมีสีแดงเข้ม ซึ่งหมายถึงการมีคุณค่าทางโภชนาการสูงพร้อมกับจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยดังกล่าวไปสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดในพื้นที่ ต.ขุนทะเล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในท้องถิ่น แก้ปัญหาให้กับคนในท้องถิ่นเป็นองค์ความรู้ที่จับต้องได้และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นได้

ส่วน นางวรรณา กุมารจันทร์ ผู้ช่วยคณบดีศูนย์สร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์(มรส.) เจ้าของผลงานวิจัยดีเด่นในหัวข้อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในเขตภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้สูงอายุมักถูกตีความในลักษณะของความไม่มีประโยชน์ และความเสื่อมถอยด้านศักยภาพในการทำงานและการพึ่งพาตนเอง ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้สูงอายุหลายคนมีสุขภาพดี ดูแลตัวเองได้ดี ยังมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์และมีคุณค่าในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี ภาคภูมิใจและสังคมเห็นคุณค่าส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความสุขอย่างแท้จริง ซึ่งการให้บริการวิชาการแก่สังคม ด้านคุณภาพชีวิต ด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิตสังคมและด้านความต้องการของผู้สูงอายุ ตลอดจนวิธีการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม เป็นอีกพันธกิจหลักที่มหาวิทยาลัยพลังแผ่นดินแห่งนี้

ขณะที่ นายวิมล พรหมแช่ม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (มรส.) เจ้าของผลงานวิจัยดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในหัวข้อการพัฒนาเรือไฟฟ้าโซลาร์เซลล์
สำหรับเก็บผักตบชวา เปิดเผยว่า งานวิจัยและพัฒนาเรือไฟฟ้าโซลาร์เซลล์สำหรับเก็บผักตบชวา ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ใช้เวลา 1 ปีเต็มในการพัฒนาเรือดังกล่าวจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ สามารถจัดหาได้ง่ายในประเทศไทยและราคาประหยัด จากการทดสอบเรือไฟฟ้าสามารถเก็บผักตบชวาได้ไม่ต่ำกว่า 1 ตันต่อชั่วโมง ความเร็วของเรือสูงสุดมากกว่า 1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถปฏิบัติงานแต่ละครั้งได้ไม่เกิน 5 ชั่วโมงต่อวัน

โดยการนำเสนองานวิจัยจะแบ่งเป็น 2 ภาคคือภาค Poster presentation และภาค Oral presentation การนำเสนอผลงานระดับชาติแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มสาขา ได้แก่ 1 ด้านการศึกษา 2 ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3 ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 4 ด้านพัฒนาสังคม 5 ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ผู้สนใจเข้าร่วมประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏสุราษฎร์ธานีวิจัย ครั้งที่ 13 สำหรับผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับนักวิจัยดีเด่น พร้อมผลงานวิจัย ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น ในวันที่ 14-15 ธันวาคม 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ( อาคารบัณฑิตวิทยาลัย ) มรส.

เทพพิทักษ์ ยศหมึก นักประชาสัมพันธ์ ข่าว/ภาพ

ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี


{AdmirorGallery}news-evens/2017-12-12-Press-Conference-National-Conference{/AdmirorGallery}