นักศึกษา-บุคลากร มรส. ยกทีมกู้ภัยน้ำท่วม ยกเป็นบทเรียนจิตอาสาอันทรงคุณค่า
นักศึกษา-บุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ยกทีมร่วม ๓๐ ชีวิต ลงพื้นที่ กรุงเทพฯ-ปทุมธานี กู้ภัยน้ำท่วมพร้อมมอบเงินสด ๑๐๐,๐๐๐ บาท และน้ำดื่ม ๑๐,๐๐๐ ขวด ผ่านครอบครัวข่าว ๓ อธิการบดีชี้เป็นบทเรียนเรื่องจิตอาสาที่ทรงคุณค่ายิ่ง เตรียมกลับมาฟื้นฟูผู้ประสบอภัยอีกรอบ ต้นเดือนมกราคมปีหน้า
ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา นักศึกษาและบุคลากร มรส. จำนวน ๓๐ คน ได้เดินทางไปยังพื้นที่อุทกภัยในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปทุมธานี เพื่อร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมร่วมกับมูลนิธิกุศลศรัทธาสุราษฎร์ธานี โดยได้ลงพื้นที่ไปในย่านดอนเมือง สายไหม รามอินทรา ลำลูกกา และธัญบุรี เพื่อนำน้ำดื่ม อาหารและยารักษาโรคไปมอบให้กับผู้ประสบภัย นอกจากนี้ยังได้นำเงินสดจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และน้ำดื่มราชพฤกษ์ที่มหาวิทยาลัยผลิตเองอีก ๑๐,๐๐๐ ขวดไปมอบให้กับครอบครัวข่าว ๓ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมต่อไป
“มหาวิทยาลัยได้ให้การปลูกฝังและเน้นย้ำเรื่องจิตอาสา หรือจิตสาธารณะแก่นักศึกษามาโดยตลอด ในขณะที่นโยบายของมหาวิทยาลัยเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Corporate Social Responsibility: CSR ด้วยเช่นกัน การลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนี้ จึงไม่เพียงเพื่อบรรเทาทุกข์ของคนไทยด้วยกัน แต่ยังเป็นบทเรียนจิตอาสาและบทเรียนของการทำกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมอันเปี่ยมคุณค่ายิ่งสำหรับนักศึกษาและบุคลากรทุกคน” อธิการบดี มรส.กล่าว
นายชัยณรงค์ พูลสิน นายกสโมสรบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ประทับใจการเป็นอาสาสมัครในครั้งนี้มาก ทั้งในส่วนของปฏิบัติการกู้ภัยและการให้ความช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งในส่วนของผู้ประสบภัยเองที่เมื่อรับน้ำใจจากอาสาสมัครไปแล้ว ก็มอบน้ำใจและคำขอบคุณกลับคืนมา ถามไถ่ว่ามาจากที่ไหน เมื่อรู้ว่าเดินทางมาไกลจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ถามต่อว่าเหนื่อยไหมและอวยพรให้เดินทางกลับโดยปลอดภัย ทำให้อาสาสมัครทุกคนทำงานด้วยความอิ่มใจ จนลืมเหน็ดเหนื่อย
ด้านนายอยับ ซาดัดคาน นายกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี หนึ่งในนักศึกษาอาสาสมัคร กล่าวเพิ่มเติมว่า รู้สึกดีใจที่ตนและเพื่อนนักศึกษาได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือคนไทยด้วยกันในยามทุกข์ยาก ได้เรียนรู้ที่จะเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ เรียนรู้ที่จะเป็นผู้รับจากสังคมและเป็นผู้คืนกลับให้กับสังคม บทเรียนนี้จึงเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ล้ำค่าและหาไม่ได้จากในรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ อาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จะเดินทางกลับมาร่วมฟื้นฟูผู้ประสบภัยอีกครั้งในเดือนมกราคม ๒๕๕๖ นี้