12 ก.พ. 2024

กสทช. หนุน มรส. ชูหนังตะลุง ชวนคนใต้รู้หวันทันสื่อ

ม.ราชภัฏสุราษฎร์ฯ ร่วมกับสำนักงาน กสทช. ชวนชุมชนแลหนังลุงมุ่งส่งเสริมความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship)

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ “คนใต้รู้หวันทันสื่อ” เพื่อเผยแพร่สื่อองค์ความรู้คลิปไวรัลนายหนังทันสื่อ ซึ่งเป็นคลิปไวรัล (Viral Clip) ที่ผลิตขึ้นโดยใช้แนวคิดซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเกิดกระบวนการรู้เท่าทันสื่อ และกิจกรรมสร้างสรรค์ วิทยากรโดยนายหนังศรีโต ศ.ศรีพัฒน์ และนายหนังหนูเพียว ศ.เทพศิลป์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้แนวคิดซอฟต์พาวเวอร์หรืออำนาจเชิงวัฒนธรรมอาจไม่ได้นำไปสู่ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เราสามารถนำมาใช้เป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในประเด็นการสื่อสารต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย
“โครงการคนใต้รู้หวันทันสื่อ เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีกับสำนักงาน กสทช. เพื่อสร้างสรรค์ผลงานสื่อและเผยแพร่องค์ความรู้ผ่านผลงาน รวมถึงจัดกิจกรรมสร้างสรรค์กับภาคประชาชนเพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการรู้เท่าทันสื่อและส่งเสริมความเป็นพลเมืองดิจิทัลผ่านนายหนังและหนังตะลุงซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สามารถเข้าถึงคนในชุมชนท้องถิ่นใต้ได้อย่างทั่วถึง” รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ สุวรรณทิพย์ ที่ปรึกษาโครงการฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ สุวรรณทิพย์ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า การสื่อสารองค์ความรู้โดยใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรรมหนังตะลุงจะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นคนถิ่นใต้ได้ง่าย เพราะเป็นวัฒนธรรมที่ผู้คนมีความผูกพัน รับรู้เนื้อหาผ่านภาษาที่คุ้นเคย และนายหนังแต่ละคนล้วนมีความสามารถและมีทักษะการสื่อสารที่ดี ซึ่งการนำเอาเนื้อหาประเด็นเรื่องการรู้เท่าทันสื่อไปสื่อสารผ่านนายหนังและตัวหนังตะลุงยังเป็นการเสริมคุณค่าให้กับสื่อวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ไม่ใช่เพียงการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น หากแต่ยังเป็นสื่อวัฒนธรรมในเชิงวิชาการที่สามารถสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้รับชม โดยหากนายหนังนำเอาประเด็นเรื่องการรู้เท่าทันสื่อไปสื่อสารต่อยังผู้ชมจำนวนมากผ่านการแสดงหนังตะลุง ก็จะเป็นการต่อยอดและขยายผลให้องค์ความรู้ได้ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างแพร่หลายในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งนับเป็นผลสำเร็จหนึ่งของโครงการฯ

สำหรับกิจกรรม “คนใต้รู้หวันทันสื่อ” จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นการขยายผลโครงการต่อเนื่องภายใต้แนวคิดการนำซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) มาสอดแทรกเพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล โดยนำเอาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น “หนังตะลุง” มาเป็นเครื่องมือการสื่อสารในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อไปพร้อมๆกับความเพลิดเพลินและอรรถรสความตลกขบขันตามความนิยมของคนท้องถิ่นภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) “สอดแทรก” แนวคิดการรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายด้วยการสื่อสารผ่านสื่อพื้นบ้านหนังตะลุง (2) “ส่งเสริม” ให้เกิดกระบวนการรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัลให้กับประชาชน และ (3) เพื่อ “สืบสาน” ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวใต้ให้สามารถโลดแล่นอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลสมัยใหม่ได้อย่างมีอัตลักษณ์ศักดิ์ศรี โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมพุทธทาส สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมีนายหนังศรีโต ศ.ศรีพัฒน์ (นายธนวรรธ จันทร์ย่อง) และนายหนังหนูเพียว ศ.เทพศิลป์ (นายจักรพรรดิ เข็มแดง) เป็นวิทยากรให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งเป็นตัวแทนชุมชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีกว่า 100 คน

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อของประชาชนเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ (รู้ kid รู้ทันสื่อ ระดับประชาชน) ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชื่อโครงการ “สุราษฎร์ธานี มีฤทธิ์ (MeLit) คิดทันสื่อ” ขึ้น เมื่อวันที่ 16-17 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ 4 ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ สุวรรณทิพย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและทรัพยากรมนุษย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนาวดี แก้วสนิท อาจารย์หลักสูตรนิเทศศาสตร์ เป็นวิทยากรให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งเป็นผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มพัฒนาชุมชน และประชาชนกลุ่มแกนนำชุมชนเข้าร่วมกว่า 50 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ สร้างการมีส่วนร่วมในการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับเครือข่ายสถาบันการศึกษา ภาคประชาชน และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถนำไปขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพและข่าวโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

ภาพข่าว