12 ส.ค. 2011

มรส. ระดมความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย เปิดประชาพิจารณ์แผนพัฒนามหาวิทยาลัย

 

มหาวิทยาลัย ราชภัฏสุราษฎร์ธานี เทียบเชิญผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วน ทั้งอาจารย์ นักศึกษา นักธุรกิจ สื่อมวลชน ฯลฯ กว่าร้อยคน รับฟังข้อเสนอแนะ และความคาดหวังที่มีต่อมหาวิทยาลัย พร้อมเปิดประชาพิจารณ์แผนยุทธศาสตร์และแผนพัฒนา

ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ มรส. ได้จัดประชุมเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาและความคาดหวังที่มีต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีของผู้ มีส่วนได้เสีย” ณ ห้องศรีวิชัย อาคารกาญจนาภิเษกอนุสรณ์ โดยเชิญผู้เข้าร่วมจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับ มหาวิทยาลัยกว่า ๑๐๐ คน อาทิ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย อาจารย์ บุคลากร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชนและนักเรียนนักศึกษา เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทางพัฒนาและความคาดหวังที่ มีต่อมหาวิทยาลัยมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัย ๔ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙)

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดประชาพิจารณ์แผนยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาและแผนปฏิบัติราชการของมหาวิทยาลัย และการเสวนาเรื่อง “ทิศ ทางการพัฒนาและความคาดหวังที่มีต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ๔ ท่าน ได้แก่ นายแพทย์บรรจบ มานะกุล อุปนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี, นายนพดล ศรีภัทรา ประธานฝ่ายจรรยาบรรณหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี, นายสมชาย สินมา นายกสมาคมส่งเสริมการ ท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายทศพล งานไพโรจน์ นายกเทศมนตรีเมืองท่าข้าม

“การคิดจากภาคส่วนเดียวว่าดีแล้ว หรือมองเพียงในมุมของตนว่า น่าพึงพอใจแล้ว อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด การรับฟังจากมุมมองของผู้อื่น การรับรู้ความคิดและความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมนำมาทั้งมุมที่เห็นเหมือน และมุมที่เห็นต่าง นำไปสู่การร่วมคิดที่จะทำให้มุมมองกว้างขึ้น และปัญญางอกงามขึ้น” อธิการบดี มรส. กล่าว

ด้านนายแพทย์บรรจบ มานะกุล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีพันธกิจที่ชัดเจนใน ๔ เรื่อง คือ การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม แต่ก็เป็นพันธกิจร่วมกันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ หรือมหาวิทยาลัยทั่วโลก และค่อนข้างเป็นนามธรรม ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องทำพันธกิจทั้งสี่นี้ให้เป็นรูปธรรม ด้วยการชูประเด็นให้แคบลงและชัดขึ้นว่า มหาวิทยาลัยควรทำอะไรใน ๔ พันธกิจนี้กับจังหวัดสุราษฎร์ธานีและกับภาคใต้ตอนบน

“หากถามว่า มหาวิทยาลัยจะได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากอะไร ก็ต้องพิจารณาว่า มหาวิทยาลัยผลิตอะไร เมื่อมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตก็หมายความว่า ถ้าบัณฑิตมีคุณภาพ มหาวิทยาลัยก็ย่อมได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากสังคม อีกประเด็นที่ต้องคำนึงถึง คือ นักศึกษาและบัณฑิตจะมีคุณภาพและมีคุณลักษณะพึงประสงค์ได้นั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ ต้องมีคนทำให้เก่ง มีคนทำเป็นตัวอย่างให้ดู ซึ่งนั่นก็คือ อาจารย์ผู้สอน ดังนั้น การพัฒนาอาจารย์จึงเป็นกระบวนการที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการพัฒนานัก ศึกษาเลย” นายแพทย์บรรจบกล่าว