09 ก.ย. 2011

มรส. คว้ารางวัล ‘บรอนซ์ อะวอร์ด’ จาก วช. อธิการบดีประกาศหนุนทำวิจัยไร้ขีดจำกัด

 

ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า ตามที่ มรส. ได้นำทีมนักวิจัยไปร่วมเผยแพร่ผลงานวิจัยในงานนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๕๔ หรือ Thailand Reserach Expo ๒๐๑๑ ณ ศูนย์ประชุมบางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ ๒๖-๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ และสถาบันวิจัยและพัฒนา มรส. ได้ส่งงาน วิจัยเข้าร่วมจัดนิทรรศการภายใต้หัวเรื่อง “เกษตรเพื่อชีวิต” นั้น ปรากฏว่า ทีมนักวิจัยของ มรส. ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ ๓ หรือ ‘บรอนซ์ อะวอร์ด’ จาก ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมเงินรางวัลจำนวน ๘,๐๐๐ บาท

อธิการบดี มรส.กล่าวต่อไปว่า ขอแสดงความชื่นชมสถาบันวิจัยและพัฒนาและนักวิจัยทุกท่านที่สร้างงานวิจัย คุณภาพ มีประโยชน์ต่อท้องถิ่น งานวิจัยเหล่านี้ไม่ใช่งานวิจัยขึ้นหิ้งแต่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ในอีกมุมหนึ่ง นี่เป็นปรากฏการณ์ที่บ่งบอกว่าเรามีนักวิจัยที่มีคุณภาพและมีศักยภาพ เพราะงาช้างไม่อาจงอกออกมาจากปากสุนัขได้ฉันใด งานวิจัยดีๆ มีคุณภาพก็ต้องออกมาจากนักวิจัยคุณภาพฉันนั้น

“ขณะนี้ มรส. กำลังประกาศท้าทายการบริหารคุณภาพวิชาการอย่างไร้ขีดจำกัด พร้อมกันนั้นก็จะสนับสนุนอาจารย์ให้ทำงานวิจัยอย่างไร้ขีดจำกัดด้วย กล่าวคือ อาจารย์มีเงื่อนไขอย่างไร หรือต้องการอะไรมาหนุนช่วยในการสร้างงานวิจัย มหาวิทยาลัยพร้อมรับเงื่อนไขและพร้อมจะจัดหามาให้ เพื่อเปิดทางและปูทางให้กับการวิจัยอย่างไร้ขีดจำกัดภายใต้ตรรกะที่เป็นจริง ได้ ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่ท้าทายความสามารถยิ่ง” อธิการบดี มรส. กล่าว

ดร.วัฒนา รัตนพรหม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรส. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นิทรรศการ “เกษตรเพื่อชีวิต” ประกอบด้วยผลงานวิจัย ๒ เรื่อง ได้แก่ ๑. ผลงานวิจัยเรื่อง “การเสริมหนอนรำข้าวสาลีในอาหารไก่พื้นบ้าน” โดย ผศ.โสภณ บุญล้ำ, นายพีรวัจน์ ชูเพ็ง และนางสาวจุฑามาศ กระจ่างศรี ๒. ผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาชนิดของชันโรงใน ๓ จังหวัดภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย” โดย ผศ.ดร.จิตเกษม หลำสะอาด โดยนิทรรศการดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งนักวิชาการ นิสิตนักศึกษา บุคลากรสายการศึกษาและสายเกษตร ประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนหลายแขนง

นอกจากในส่วนของนิทรรศการแล้ว สถาบันวิจัยและพัฒนายังได้ส่งผลวิจัยไปนำเสนอภาคบรรยายอีก ๔ หัวข้อวิจัย ได้แก่ ๑. ทฤษฎีและการสร้างสรรค์ศิลปะหลังสมัยใหม่เพื่อสุนทรียศาสตร์แห่งความเท่า เทียมและสังคมที่สมดุล โดย นายพิชัย สุขวุ่น ๒. โครงการกำจัดสีย้อมสังเคราะห์ที่เหลือจากกระบวนการย้อมด้วยไคติน-ไคโตซาน โดย ดร.ชุติมา เสพย์ธรรม ๓. โครงการความสามารถในการใช้แทนกันของทุนและแรงงานในอุตสาหกรรมห้องเย็นภาคใต้ โดย ผศ.ดร.นันทวรรณ ช่างคิด และ ๔. การศึกษาสมการการผลิตและต้นทุนผลตอบแทนจากการปลูกยางพาราในจังหวัดสุราษฎร์ ธานี โดย นายอนุมาน จันทวงศ์