19 ก.ค. 2012

มรส.เวิร์กชอปครูทำโครงงานคณิตศาสตร์

สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ฯ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดเวิร์กชอปครู สพฐ.ทำโครงงานคณิตศาสตร์ หวังนำไปใช้กระตุ้นทักษะด้านการคิดของนักเรียน คณบดีเผยตัวเลขนักเรียนส่งโครงงานประกวดน้อยมาก

รศ.ดร.ธงชัย เครือหงษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 18 – 20 กรกฎาคม 2555 สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) เรื่อง “การทำโครงงานคณิตศาสตร์” ให้กับครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 60 คน ณ ห้องวิทยสโมสร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำโครงงานคณิตศาสตร์ สามารถนำทักษะและความรู้ทางคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้และมีแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยโครงงานคณิตศาสตร์ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รศ.ประสิทธิ์ ทองแจ่ม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา, ผศ.ดร.สุรพล เนาวรัตน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ และนางสาวกันญารัตน์ หนูชุม อาจารย์ประจำสาขาวิชาคณิตศาสตร์

คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อไปว่า จากสภาพจริงในปัจจุบันพบว่านักเรียนยังมีปัญหาเกี่ยวกับความสามารถในการคิด โดยสังเกตได้จากผลการประเมินภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ในตัวบ่งชี้ด้านการคิด พบว่าผลการประเมินที่ได้ยังค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขยังเร่งด่วนเพื่อการพัฒนาประเทศ ชาติที่ยั่งยืนต่อไป

“การสอนแบบโครงงานเป็นการสอนรูปแบบหนึ่งที่มุ่งเน้นให้นักเรียนใช้กระบวนการคิด มีการวางแผน เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันครูคณิตศาสตร์ยังใช้การสอนแบบโครงงานน้อยมาก โดยจะเห็นได้จากมีโรงเรียนที่ส่งโครงงานเข้ารับการประกวดในสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นละ 2 – 3 โครงงานเท่านั้น สาขาวิชาคณิตศาสตร์เห็นความจำเป็นเรื่องการสอนโดยใช้โครงงาน จึงจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ขึ้น เพื่อให้ครูมีความรู้ความเข้าใจในการทำโครงงานคณิตศาสตร์ และนำความรู้ที่ได้ไปจัดการเรียนการสอนโดยใช้โครงงานคณิตศาสตร์ในโรงเรียนต่อไป” รศ.ดร.ธงชัยกล่าว

ด้าน นายสุรินทร์ สมณะ ประธานสาขาวิชาคณิตศาสตร์ กล่าวว่า มรส.เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งดำเนินงานตามพันธกิจ 4 ด้าน คือ ผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ภาควิชาคณิตศาสตร์เองก็เป็นองค์กรหนึ่งที่มุ่งมั่นดำเนินงานให้ครบทั้ง 4 พันธกิจดังกล่าว และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีจุดมุ่งหมายให้นักเรียนเกิดความสามารถด้านการคิด ซึ่งได้แก่ การคิดขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยทักษะการคิดที่ใช้ในการสื่อสารและทักษะการคิดที่เป็นแกน และความสามารถในทักษะการคิดขั้นสูง ประกอบด้วย ทักษะการคิดซับซ้อน ทักษะพัฒนาลักษณะการคิด และทักษะกระบวนการคิด