มรส.ผุดยุทธศาสตร์ใหม่ “5 สร้าง 3 พัฒนา” ขับเคลื่อนสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งอาเซียน
อธิการบดี ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผุดยุทธศาสตร์ใหม่แกะกล่อง “5 สร้าง 3 พัฒนา” ครอบคลุมการสร้างคน สร้างบัณฑิต สร้างความเป็นเลิศ สร้างระบบบริหารที่ดี และสร้างศักยภาพสู่อาเซียน พร้อมพัฒนาสภาพแวดล้อม พัฒนาภูมิปัญญา และพัฒนามหาวิทยาลัยสู่นานาชาติ ตั้งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งอาเซียน ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) กล่าวภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มรส. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 ว่า ขณะนี้ได้กำหนด 8 ยุทธศาสตร์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยขึ้น เรียกว่า “5 สร้าง 3 พัฒนา” เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งอาเซียน |
อธิการบดี มรส. แจงว่า 5 สร้างในที่นี้ประกอบไปด้วย 1. สร้างคน คือ ทำอย่างไรให้อาจารย์มีตำแหน่งทางวิชาการ มีวุฒิปริญญาเอกและมีความรู้ภาษาอังกฤษ ส่วนบุคลากรสายสนับสนุนก็มีความรู้ในงาน พัฒนางานอย่างต่อเนื่อง 2. สร้างบัณฑิต คือ ทำอย่างไรให้บัณฑิตมีคุณภาพเข้มข้น มีคุณลักษณะพึงประสงค์ มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ 3. สร้างความเป็นเลิศในพันธกิจทุกด้าน ทั้งการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และด้วยความเป็นราชภัฏก็ต้องสร้างความเข้มแข็งในชุมชนท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งของวิชาชีพครู และสืบสานพระราชปณิธานในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วย 4. สร้างระบบบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล โปร่งใส รับผิดชอบ ตรวจสอบได้ และ 5. สร้างศักยภาพและความเข้มแข็งทางวิชาการ เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ผศ.ดร.ประโยชน์กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ 3 พัฒนาประกอบด้วย 1. พัฒนาทางกายภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งแค่สวยงามไม่พอ แต่ต้องก้าวสู่การเป็น Clean and Green Campus บัณฑิตต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เอื้อต่อการเรียนรู้ 2. พัฒนา “ภูมิปัญญาถิ่น ภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาสากล” เราไม่อาจปฏิเสธโลกาภิวัตน์ได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง ทำอย่างไรเราจะนำภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรม แหล่งภูมิปัญญาต่าง ๆ นำออกสู่สากลให้ได้ ในขณะเดียวกันก็รับภูมิปัญญาสากลเข้ามาแก้ไขปรับปรุงจุดอ่อนของเรา และ 3. พัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานาชาติ เราไม่สามารถเป็นอุดมศึกษาท้องถิ่นที่ไม่สนใจนานาชาติได้ เพราะถึงอย่างไรเราก็หนีความเป็นสากลไม่พ้น ดังนั้นเราต้องเริ่มต้นที่โครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล และเน้นความเป็นสากลในความหมายของภูมิภาคอาเซียน “ทั้งนี้ การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนั้นไม่อาจสำเร็จได้โดยอธิการบดีหรือทีมบริหารเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยกลุ่มต่าง ๆ ในการส่งเสริม สนับสนุน มีส่วนร่วมและมีบทบาทในการดำเนินงาน ซึ่งผมมั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมือจากนักศึกษา คณาจารย์และบุคลากรทุกระดับด้วยดีอย่างแน่นอน” อธิการบดี มรส.กล่าว |