11 เม.ย. 2014

มรส. เปิดทัศนะ หนุน นศ. เรียนรู้วิถีชีวิตจริงสู่ประตูอาเซียน+6

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) สนับสนุนงบพัฒนาทักษะภาษา เตรียมพร้อมก้าวสู่ประเทศอาเซียน จัดโครงการ “เรียนรู้สู่อาเซียน ASEAN LEARNING”นักศึกษาสนใจร่วมเสนอโครงการลุ้น ดำเนินวิถีชีวิตจริงต่างแดน หวังภาษาเพื่อการสื่อสาร เปิดทัศนะแห่งการเรียนรู้

ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวถึง โครงการ“เรียนรู้สู่อาเซียน ASEAN LEARNING” ว่า ปัจจุบันภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลของโลกที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และเข้ามามีบทบาทสำคัญสำคัญในวิถีชีวิตของคนจำนวนมากทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จากอิทธิพลของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ส่งผลให้ภาษาอังกฤษยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ศึกษาค้นคว้า แสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมถึงการใช้ในการประกอบอาชีพ โดยในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษจึงเป็นเครื่องมือพื้นฐานสำคัญและจำเป็น สำหรับการแข่งขันในตลาดแรงงานอาเซียน การเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชน ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ให้มีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ควรให้ความสำคัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จึงได้จัดทำโครงการเรียนรู้สู่อาเซียนASEAN LEARNING ในกลุ่มประเทศ ASEAN+6 ซึ่งได้แก่ประเทศ ไทย กัมพูชา บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย พร้อมด้วย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และนิวซีแลนด์

ด้าน ดร.คมกฤต โอวรารินท์ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาและพัฒนา ได้กล่าวว่า สำหรับโครงการ “เรียนรู้สู่อาเซียน ASEAN LEARNING” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานีได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศในกลุ่มอาเซียนของนักศึกษา และสร้างเครือข่ายทางวิชาการของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีกับนักศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน ASEAN+6 โดยให้นักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการจากคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษเพื่อที่จะนำไปใช้ในจัดทำโครงการไปใช้ในการเดินทางไปยังต่างประเทศและใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารมากขึ้น จากนั้นทำการคัดเลือกนักศึกษา แต่ละกลุ่มจะต้องเสนอโครงการเรียนรู้สู่อาเซียน ประเทศใน ASEAN+6 โดยใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน โดยจะต้องเตรียมข้อมูลพื้นฐานของประเทศนั้นๆ เมืองที่จะไปสถานที่สำคัญหรือสถานที่ที่จะไปเรียนรู้รวมถึงแผนการเดินทาง แผนกิจกรรมในแต่ละวันที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ พร้อมงบประมาณที่จะใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศ นักศึกษาจะต้องเสนอโครงการขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายโดยผ่านความเห็นชอบจากคณะที่สังกัดและคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยฯ แต่งตั้ง พิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามความเหมาะสมของโครงการ กลุ่มที่ผ่านการพิจารณาจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองในการเดินทางไปต่างประเทศ และนักศึกษาจะต้องบันทึกประสบการณ์และนำเสนอต่อคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยฯ แต่งตั้ง

สำหรับ นางสาวพัชรินญา หมื่นสะชุม นักศึกษาสาขาวิชาการท่องเที่ยว วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุร
าษฎร์ธานี หนึ่งในกลุ่มที่เข้าร่วมแข่งขันเพื่อรับการคัดเลือก ได้เปิดเผยว่า ตนเองและกลุ่มเพื่อนได้เลือกเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นหนึ่งประเทศที่เข้าร่วมกับอาเซียน เพราะฮ่องกงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีการบริหาร จัดการการท่องเที่ยว ซึ่งอยู่อันดับ 15 ของโลก อันดับที่ 5 ของเอเชีย สามารถนำมาประยุกต์กับสาขาวิชาที่กำลังศึกษา เพื่อนำไปพัฒนาในการประกอบอาชีพในอนาคตได้

ส่วน นางสาวอุบลกาญจน์ หีบสุภา นักศึกษาสาขาวิชาการเงินการธนาคาร คณะวิทยาการจัดการ เปิดเผยถึงประเทศที่ตนเองและเพื่อนเลือกเพื่อทำการศึกษา คือ ประเทศสิงคโปร์ เพราะเป็นประเทศที่มีทำเลที่ตั้งเป็นเมืองท่าที่สำคัญของโลก มีการจัดการบริหารประเทศได้อย่างน่าสนใจ มีเครือข่ายธุรกิจกับคนสัญชาติต่างๆ มีความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ บุคคลากรมีความรู้/ความชำนาญระบบการทำงานที่เป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ มีจุดแข็งในด้านการจัดการ การตลาด การเงิน/ธนาคาร การสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการด้าน Supply Chain ในระดับมาตรฐานโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับสาขาวิชาที่กำลังศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินอาชีพต่อไป