01 เม.ย. 2016

งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มรส.ก้าวสู่เวทีระดับชาติ ร่วมจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช “หวนดูทรัพย์สิ่งสินตน” ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

alt

งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มรส.ร่วมสนองงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในการประชุมวิชาการและจัดนิทรรศการ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เรื่อง หวนดูทรัพย์สิ่งสินตน ในระหว่างวันที่ 23-29 มีนาคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ.ดร.สุนทร พูนเอียด รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานสนองงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมากจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มาเป็นระยะเวลายาวนาน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และพัฒนาพืชพรรณเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยได้ดำเนินการศึกษาและพัฒนาการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามกรอบแนวทางการดำเนินงานของโครงการมาโดยตลอด ทั้งในส่วนพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ฯและร่วมกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯมีความพร้อมที่จะนำผลการดำเนินงานโครงการเผยแพร่สู่สาธารณชนให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับประเทศ

นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เรื่อง หวนดูทรัพย์สิ่งสินตน ครั้งนี้ งานบริการวิชาการฯได้ร่วมกับสาขาวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สาขาชีววิทยาและสาขาพืชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำเสนอผลการดำเนินงานในสองส่วนสำคัญ คือ การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพป่าชายเลน กรณีศึกษาป่าชายเลนโรงเรียนบ้านปากกระเดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้การนำของ ดร.ชุมพูนุช ชัยรัตนะ โดยนำสัตว์น้ำตัวอย่างพร้อมความรู้ต่างๆมาเผยแพร่ และส่วนที่สอง คือ การศึกษาและขยายพันธุ์หม้อข้าวหมอแกงลิง จำนวนเจ็ดสายพันธุ์ ของสาขาวิชาชีววิทยาและสาขาพืชศาสตร์ ภายการนำของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรพรหม พรหมเมศร์ และ ดร.กรณ์ กรภัทรชัยกุล โดยนำเสนอการจัดสวน พืชกินแมลง หลากหลายชนิดมาแสดงในงาน โดยเฉพาะหม้อข้าวหม้อแกงลิง สายพันธุ์ไทเกอร์สุราษฎร์ ซึ่งกำลังจะสูญพันธุ์ มาแสดงไว้ในงานนี้ด้วย รวมทั้งมีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและการเพาะเมล็ดหม้อข้าวหม้อแกงลิงแจกจ่ายแก่ผู้มาร่วมงาน การจัดแสดงการจัดสวนถาดจากพืชกินแมลง เป็นต้น

การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ สร้างความแปลกใหม่ ตื่นตา ตื่นใจ และได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานที่มาเยี่ยมชมบู๊ทนิทรรศการของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นอย่างมาก สำหรับในปี พ.ศ. 2560 กำหนดจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการ ณ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ศูนย์จังหวัดสระบุรี ความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป

ภาพ/ข่าว : อรุณ หนูขาว
งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น

{AdmirorGallery}news-evens/rspg-sru{/AdmirorGallery}