21 ก.พ. 2017

ราชภัฏสุราษฎร์ฯ ปั้นนักเขียนเลือดใหม่ เปลี่ยนพันธกิจรับใช้สังคมให้เป็นบทความ

alt

ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีปั้นนักพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นนักเขียนเลือดใหม่ เปลี่ยนพันธกิจรับใช้สังคมให้เป็นบทความ ยกระดับความรู้เพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับงานพัฒนาสังคมอื่น ๆ วิทยากรชี้ คนที่จะถ่ายทอดเรื่องราวได้ดีที่สุดคือคนที่ลงมือทำ

นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 20 – 21 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเขียนบทความบริการวิชาการเพื่อรับใช้สังคม” ขึ้น ณ โฮมสเตย์เกาะพิทักษ์ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยมีตัวแทนจากคณะ ศูนย์และสำนักต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยรวม 23 คนเข้าร่วม มีวิทยากรเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนบทความวิชาการและบทความทั่วไป ได้แก่ ดร.เสน่ห์ บุญกำเนิด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ดร.กฤษณะ ทองแก้ว อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ และนางวันวนัทธ์ วรภู นักประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร

นายอรุณกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ขับเคลื่อนงานวิชาการรับใช้สังคมผ่านภารกิจหลัก 4 ประการ คือ การจัดการเรียนการสอน การบริการวิชาการ การวิจัยและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม แต่ยังขาดการสื่อสารว่าได้ทำอะไรไปบ้าง ตนจึงมีความคิดที่จะนำกลุ่มคนที่ทำงานพัฒนาสังคมเหล่านี้มาเติมทักษะการเขียนลงไป เพื่อให้พวกเขาสามารถถ่ายทอดงานที่ตัวเองทำออกมาเป็นบทความได้ สำหรับเป็นกรณีศึกษาแก่งานบริการวิชาการอื่น ๆ ต่อไป

ดร.เสน่ห์ บุญกำเนิด วิทยากร กล่าวว่า การจะเขียนบทความรับใช้สังคมให้ดีได้นั้น ผู้เขียนต้องลงไปคลุกกับงานหรือรู้ในงานเป็นอย่างดี ซึ่งนักเขียนทั้งหมดที่มาในวันนี้ล้วนเป็นคนที่มีความรู้ในงานเนื่องจากได้ลงพื้นที่ทำงานด้วยตนเอง จึงทราบข้อมูล กระบวนการและผลลัพธ์ทั้งหมด ที่ต้องทำก็เพียงฝึกฝนให้สามารถถ่ายทอดงานออกมาในรูปของบทความเท่านั้น

“เมื่อเสร็จสิ้นการสัมมนา เราได้บทความ 24 เรื่องจากผู้เข้าอบรม 23 คน ซึ่งเราจะนำบทความทั้งหมดมารวมเล่มตีพิมพ์ในจุลสารบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น เล่มที่ 2 ที่มีกำหนดออกในเดือนมีนาคม 2560 นี้ เพื่อแจกจ่ายให้กับหน่วยงานราชการและท้องถิ่น เป็นยกระดับความรู้ของการรับใช้สังคมไปอีกขั้นหนึ่ง” ดร.เสน่ห์กล่าว

นางสาวกฤษณา สังขมุณีจินดา อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ เปิดเผยว่า ตนเลือกเขียนบทความเกี่ยวกับการออกไปช่วยเหลือผู้ป่วยในช่วงน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ ซึ่งตนและทีมงานพยาบาลได้นั่งเรือออกไปตรวจรักษา ปฐมพยาบาล รวมทั้งรับผู้ป่วยติดเตียงหลายรายออกมาจากพื้นที่อุทกภัย การบอกเล่าออกมาเป็นตัวอักษรทำให้มีโอกาสได้เรียบเรียงประเด็นและความคิดใหม่ ตกผลึกในวิธีทำงานมากขึ้น รวมทั้งสามารถใช้เป็นบทเรียนสอนนักศึกษาต่อไปได้ด้วย

alt

วันวนัทธ์ วรภู รายงาน / ถ่ายภาพ