13 มี.ค. 2017

ม.ราชภัฏสุราษฎร์ผุด “โรงเรียนผู้สูงอายุ” รับ นร.วัย 60 สอนดูแลสุขภาพ-ก้าวทันโลก

alt

คณะพยาบาลศาสตร์ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผุด “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ร่างหลักสูตรจากความต้องการของผู้สูงอายุในท้องถิ่น รับนักเรียนรุ่นแรกอายุ 60 ปีขึ้นไป สอนดูแลสุขภาพพร้อมก้าวทันโลก ครูใหญ่ชี้ ผู้สูงอายุไม่ได้หมายความว่าไร้ประโยชน์หรือไม่มีศักยภาพ

ดร.จิราพร วัฒนศรีสิน คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะพยาบาลศาสตร์ มรส. ได้จัดตั้ง “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ขึ้น ณ อาคารปฏิบัติการ คณะพยาบาลศาสตร์ มรส. เพื่อเปิดสอนให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุในชุมชน ในด้านการส่งเสริมสุขภาพตนเอง การดูแลสุขภาพระยะยาว การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ และเพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบในการดำเนินงานการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชนต่าง ๆ

คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์กล่าวต่อไปว่า มหาวิทยาลัยได้เริ่มจากการสำรวจบริบทและสรุปความต้องการของผู้สูงอายุในชุมชนเพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำหรับวางแผนจัดการเรียนการสอน จากนั้นได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและวิพากษ์หลักสูตรโดยผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วจึงเปิดรับนักเรียนผู้สูงอายุรุ่นแรกจำนวน 25 คน คุณสมบัติคือ มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พูดอ่านเขียนภาษาไทยได้ ช่วยเหลือตนเองได้และมีจิตสาธารณะ โดยได้ทำพิธีปฐมนิเทศและเปิดภาคเรียนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา

“จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำให้พบว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำบลขุนทะเลซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี ถึงร้อยละ 13.8 ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยร่วมกับองค์กรภาคประชาชน องค์กรด้านสุขภาพและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อช่วยกันดูแลผู้สูงอายุในชุมชน แต่ก็ดูแลได้ไม่ทั่วถึง การจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุขึ้นจึงเป็นอีกแนวทางที่จะมาช่วยเติมเต็มพันธกิจของเรา” ดร.จิราพรกล่าว

ด้านนางวรรณา กุมารจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนผู้สูงอายุ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า รายวิชาทั้งหมดที่เปิดสอนในโรงเรียนผู้สูงอายุนั้นสอดคล้องกับความต้องการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ มีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมระยะเวลาเรียน 5 เดือน มีทั้งหมด 5 วิชา ได้แก่ วิชาการดูแลสุขภาพในวัยสูงอายุ วิชาก้าวทันโลกในวัยสูงอายุ วิชานันทนาการและงานอดิเรกในผู้สูงอายุ วิชาพหุวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิชาการศึกษาอิสระ

“ที่ผ่านมาผู้สูงอายุมักถูกตีความในลักษณะของความไม่มีประโยชน์ และความเสื่อมถอยด้านศักยภาพในการทำงานและการพึ่งพาตนเอง ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้สูงอายุหลายคนมีสุขภาพดี ดูแลตัวเองได้ดี ยังมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์และมีคุณค่าในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้” ครูใหญ่โรงเรียนผู้สูงอายุกล่าว