มรส.ผุดโครงการ ‘ป้องกันพิษสุนัขบ้า’ ฉีดวัคซีน-ทำหมันสัตว์จรจัดในสุราษฎร์
ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีผุดโครงการป้องกันพิษสุนัขบ้ารับหน้าร้อน ยกทีมนักศึกษา-อาจารย์และนายสัตวแพทย์ลงพื้นที่ฉีดวัคซีน ทำหมัน ฉีดพยาธิให้หมาแมวจรจัด เผยพบสัตว์จรจัดจำนวนมากเป็นกลุ่มเสี่ยงแพร่เชื้อสู่คน
ผศ.สุรินทร์ สมณะ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า ฤดูร้อนปีนี้หลักสูตรสัตวศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรส. ได้จัดโครงการนำร่องป้องกันพิษสุนัขบ้าขึ้นเป็นปีแรก โดยมีการฉีดวัคซีนและทำหมันถาวรให้กับสัตว์จรจัดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อลดอุบัติการณ์ในการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าและโรคสัตว์ติดคนอื่น ๆ โดยตั้งใจจะจัดทำโครงการนี้เป็นประจำทุกปีต่อไปเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว
คณบดีกล่าวต่อไปว่า กิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การจัดอบรมให้ความรู้เรื่องโรคสัตว์ติดคน โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด มีประชาชนที่เลี้ยงสุนัขและแมวในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาเข้ารับการอบรมจำนวน 86 คน
“ส่วนกิจกรรมส่วนที่สองเป็นกิจกรรมภาคปฏิบัติ เริ่มจากการที่คณะนักศึกษาและอาจารย์ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจประชากรสัตว์จรจัดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นได้ดำเนินการทำหมันถาวรให้ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและฉีดยากำจัดพยาธิให้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากนายสัตวแพทย์พุทธิพงศ์ ขาวนวล จากโรงพยาบาลสัตว์สุราษฎร์อินเตอร์ ซึ่งในเบื้องต้นมีเจ้าของแมวและสุนัขนำสัตว์เลี้ยงเข้ามารับบริการร่วมร้อยตัว” ผศ.สุรินทร์กล่าว
ด้าน ผศ.โสภณ บุญล้ำ อาจารย์ประจำหลักสูตรสัตวศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรส. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะเกิดประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมแล้ว นักศึกษาก็ยังได้รับความรู้และประสบการณ์ตรงด้วย โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นนักศึกษาที่เรียนวิชาสุขศาสตร์สัตว์และมาตรฐานฟาร์ม หลักสูตรสัตวศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อรุนแรงและเป็นโรคสัตว์ติดคน ในแต่ละปีรัฐบาลต้องเสียงบประมาณจำนวนมหาศาลในการป้องกันและควบคุมโรคนี้ ทั้งการจัดซื้อวัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ มีรายงานการพบโรคนี้ในประเทศไทยทั้งในคนและสัตว์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในจังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย ซึ่งจากการสำรวจเราพบว่ามีสุนัขและแมวจรจัดในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจำนวนมาก รวมทั้งในบริเวณมหาวิทยาลัยเองด้วย สุนัขและแมวกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดต่อและแพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้า การจัดโครงการดังกล่าวขึ้นมาจึงเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวและเราจะทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง” ผศ.โสภณกล่าว