อาจารย์ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ฯ คว้า ‘งานวิจัยดีเด่น’ศึกษาป่าสาคูพื้นที่ภาคใต้-เชื่อมโยงทุกมิติชุมชน
อาจารย์ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีคว้ารางวัลงานวิจัยดีเด่น ศึกษาการใช้ประโยชน์ป่าสาคูในพื้นที่ภาคใต้ พบมีความเชื่อมโยงกับทุกมิติของชุมชน ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงเศรษฐกิจ หวังต่อยอดสู่การรักษาและฟื้นฟูป่าสาคูคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
ผศ.อภิชาติ พัฒนวิริยะพิศาล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า นักวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี คือ ดร.วัชรี รวยรื่น ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นจากการประชุมใหญ่โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษา ครั้งที่ 5 (HERP Congress V) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ซึ่งจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2560 โดย ดร.วัชรีได้ทำวิจัยเรื่องการกระจายตัวและการใช้ประโยชน์ป่าสาคูในพื้นที่ภาคใต้ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้ 5 แห่ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
“การศึกษาป่าสาคูได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชุมชนในมิติต่าง ๆ การถ่ายทอดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนได้อย่างเด่นชัด แต่ปัจจุบันป่าสาคูลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วและสูญหายไปในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของชุมชนกับป่าสาคูในมิติต่าง ๆ ลบเลือนไป เหลือแต่คําบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนควรช่วยกันสร้างความตระหนักให้ประชาชนเห็นคุณค่า ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งเสริมให้ชุมชนอนุรักษ์ป่าสาคูด้วยการจัดการและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อให้ป่าสาคูคงอยู่กับชุมชนตลอดไป” ผศ.อภิชาติกล่าว
ด้าน ดร.วัชรี รวยรื่น นักวิจัยและอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ทีมวิจัยเริ่มต้นด้วยการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานป่าสาคูเบื้องต้น ลงพื้นที่สำรวจเก็บพิกัดการกระจายตัวของป่าสาคูในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพรและระนอง สัมภาษณ์การใช้ประโยชน์ป่าสาคู ปัจจัยการคงอยู่ของป่าสาคูจากผู้ใช้ประโยชน์ในชุมชน วิเคราะห์ข้อมูล จากนั้นนำมาจัดทำแผนที่การกระจายตัวของป่าสาคู ซึ่งพบว่ามีป่าสาคูในพื้นที่วิจัยรวมกันกว่า 220 ไร่ พบมากที่สุดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนใหญ่เจริญเติบโตตามแนวชายฝั่งหรือตลิ่งของแม่น้ำลำคลองหนองบึง
“ชาวบ้านนำสาคูไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น นำใบมาเย็บตับจากมุงหลังคา ลำต้นใช้เลี้ยงสัตว์และสกัดเป็นแป้งทำอาหารของมนุษย์ ทางสาคูทำเครื่องจักสาน เปลือกนอกทำเชื้อเพลิง น้ำเลี้ยงจากก้านใบทำกาวและรักษาฝ้าบนใบหน้า ก้านใบทำไม้กวาด รากทำยาพื้นบ้าน ผลกินได้ เป็นต้น นอกจากนี้ต้นสาคูยังมีประโยชน์ในเชิงนิเวศด้วย คือเป็นทั้งแหล่งดูดซับน้ำ ช่วยกรองของเสียและป้องกันการพังทลายของดิน การรักษาฟื้นฟูป่าสาคูจึงกลายเป็นเรื่องที่จะเชื่อมโยงทุกมิติของชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน นับตั้งแต่วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงเศรษฐกิจความเป็นอยู่” ดร.วัชรีกล่าว