ราชภัฏสุราษฎร์ฯ ประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ถวายพ่อ เชิญชวน น.ศ.-ประชาชนร่วมจิตอาสา 3 ก.ค.-18 ส.ค.นี้
ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีเชิญชวนนักศึกษา อาจารย์และประชาชนทั่วไป ร่วมใจประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ 50,000 ดอก ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดวิทยากรสาธิตการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ 3 แบบ ทั้งดอกดารารัตน์ ดอกกล้วยไม้และดอกชบาทิพย์ พร้อมเผยความหมายลึกซึ้ง
ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ตามที่สำนักพระราชวังได้กำหนดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ณ ราชวัติพระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม 2560 นั้น เพื่อเป็นการถวายความอาลัยแก่พระองค์ท่าน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) จึงได้จัดกิจกรรม “มรส.ร่วมใจทำดอกไม้จันทน์ถวายพ่อหลวงสู่สรวงสวรรค์” ขึ้น เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและถวายความอาลัยแด่พระองค์ท่าน
ผู้ช่วยอธิการบดีกล่าวต่อไปว่า กิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 3 กรกฎาคม – 18 สิงหาคม 2560 ณ หอประชุมวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จึงขอเชิญชวนนักศึกษา อาจารย์และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม ร่วมกันจัดทำดอกไม้จันทน์ถวายพ่อหลวง เพื่อจะนำไปใช้ในพิธีถวายพระเพลิงพระศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมหาวิทยาลัยจะจัดวิทยากรมาสาธิตวิธีการทำให้ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะทำดอกไม้จันทน์ให้ได้ 50,000 ดอก
“ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย การวางดอกไม้จันทน์ถือเป็นการแสดงความอาลัยและความเคารพเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยความเชื่อว่าจะนำไปสู่สุคติและสิ่งดีงามในภายภพหน้า ไม้จันทน์เป็นไม้มงคลที่เป็นของสูงและเป็นไม้หายาก เชื่อกันว่ากลิ่นหอมของดอกไม้จันทน์จะนำดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับไปสู่สรวงสวรรค์” ดร.สมปราชญ์กล่าว
นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นและกองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ดอกไม้จันทน์ที่จะทำถวายมี 3 แบบด้วยกัน ได้แก่ ดอกดารารัตน์ ดอกชบาทิพย์ และดอกกล้วยไม้ สำหรับดอกชบาทิพย์เป็นดอกไม้ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดและพระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะประทับ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนดอกชบาทิพย์สื่อถึงการดับสูญและความเป็นทิพย์ เพื่อเป็นการถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย
“ในขณะที่ดอกกล้วยไม้เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง ความรักและความสง่างาม สมดังพระมหากรุณาธิคุณในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ให้ขจรขจายไปทั้งแผ่นดินไทยตลอดถึงนานาประเทศทั่วโลก” นายอรุณกล่าว
วันวนัทธ์ วรภู รายงาน