30 ก.ค. 2017

มรส.ดึงชุมชนร่วมแปรรูปไข่เค็มของดีประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมเสริมรายได้

แปรรูปไข่เค็มของดีประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินโครงการบริการวิชาการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ ต.พุมเรียง อ.ไชยา โดยวิทยากร ผศ.ดร.สุกัญญา ไหมเครือแก้ว จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมอบรม “เพิ่มมูลค่าภูมิปัญญาไข่เค็ม” ให้แก่ชาวบ้านใน ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไข่เค็มที่สำคัญและมีชื่อเสียงของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

อาจารย์กิตติกร ไสยรินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ชาวบ้านในชุมชน ต.พุมเรียง อ.ไชยา ส่วนใหญ่มีอาชีพประมง เมื่อเสร็จสิ้นจากการออกเรือหาปลาแล้ว จะมีเวลาว่าง สมาชิกในชุมชนจึงมีความต้องการที่จะหารายได้เสริมให้กับครอบครัว ประกอบกับผลผลิตที่สำคัญและมีชื่อเสียงของชุมชนคือ ไข่เค็มไชยา ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือไข่แดง มีสีแดงสดและมีรสมันอร่อย ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีจึงเข้าไปร่วมฝึกอบรมและพัฒนาการนำไข่เค็มไชยามาทำเป็นขนมเปี๊ยะไส้ถั่วไข่เค็ม แปรรูปไข่เค็มให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับไข่เค็มไชยาแล้ว ยังเป็นกาสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนได้อีกด้วย ซึ่งต่อไปในอนาคตมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีจะช่วยคิดค้นการแปรรูปไข่เค็มในรูปแบบอื่นให้กับชาวบ้านอีก

เนื่องจากในท้องถิ่น ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งไข่เค็มที่รู้จักกันแพร่หลาย แต่ประชาชนทั่วไปมักทำอาชีพประมงและมีเวลาว่างค่อนข้างมาก จึงจัดทำโครงการบริการวิชาการนี้ขึ้นเพื่อใช้ไข่เค็มผลิตอาหารที่หลากหลาย และสร้างรายได้อาชีพเสริมแก่ประชาชน ผลการจัดอบรมเป็นที่พอใจ ทำให้เกิดแนวคิดในการเพิ่มมูลค่าไข่เค็มของชาว ต. พุมเรียง ซึ่งสามารถนำไปผลิตอาหารในรูปแบบที่ต่างจากเดิมได้ และประชาชนในชุมชนเรียกร้องให้จัดทำอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าจากอาหารทะเลต่อไป

นายเทพพิทักษ์ ยศหมึก ข่าว
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรส. ภาพถ่าย

{AdmirorGallery}news-evens/2017-07-30-Processing-salted-egg{/AdmirorGallery}