มรส. สร้างค่าย “อุดมการณ์ราชภัฏสู่ชุมชน” ถ่ายทอดความรู้จากพี่สู่น้อง…หวังสร้างแรงบันดาลใจ
สาขาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สร้างค่าย “อุดมการณ์ราชภัฏสู่ชุมชน” ถ่ายทอดความรู้จากพี่สู่น้อง หวังสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนในชุมชนท้องถิ่นเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นใกล้ตัว โดยมีนักศึกษาเป็นผู้ดำเนินโครงการด้วยการนำความรู้ทางทฤษฎีมาปฏิบัติ เมื่อระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ณ โรงเรียนบ้านคลองโหยน ตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อาจารย์สรัญ เพชรรักษ์ ประธานหลักสูตรสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เปิดเผยว่า สาขาการจัดการทางวัฒนธรรมมีเนื้อหารายวิชาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยให้มีการปฏิบัติจริงนอกห้องเรียนด้วยกระบวนการพัฒนานักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรวิชา มีระบบคิดที่ดี กล้าคิด กล้าทำอย่างสร้างสรรค์ มีจิตวิญญาณแห่งการทำงาน ซึ่งการจัดค่ายวัฒนธรรมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อสังคม ส่งเสริมวัฒนธรรม นำความรู้สู่ชุมชน ในครั้งนี้ เป็นการสืบทอดมากจากค่าย “อุดมการณ์ราชภัฏสู่ชุมชน” ที่มหาวิทยาลัยต้องการถ่ายทอดความรู้ตามศาสตร์ที่ได้เรียนของนักศึกษามาถ่ายทอดสู่ชุมชนจริง ในฐานะคนของพระราชาข้าของแผ่นดิน
ด้านอาจารย์ศิริอร เพชรภิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ค่ายวัฒนธรรมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสังคม เป็นค่ายที่ให้นักศึกษาในสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรมได้ฝึกปฏิบัติการจัดการทางวัฒนธรรมสู่ชุมชนจริง โดยในปีนี้ไปยังโรงเรียนบ้านคลองโหยน ตำบลบางสวรรค์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีความห่างไกลจากวัฒนธรรมพื้นบ้าน เมื่อมีนักศึกษารุ่นพี่เข้ามาถ่ายทอดความรู้ อาทิเช่น การแสดงมโนราห์ การแสดงหนังตะลุง การเล่นดนตรี การทำขนม และการละเล่นแบบพื้นบ้านภาคใต้ จึงให้ความสนใจและเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่จะได้ทำความรู้จักกับวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือการรู้จักนำวัสดุใกล้ตัวมาประดิษฐ์เป็นของเล่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าของชุมชนตนเองว่ามีทรัพยากรมากมายที่สามารถสร้างประโยชน์อย่างมีคุณค่าและเกิดมูลค่าได้อีกด้วย
สำหรับสาขาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นหลักสูตรที่เน้นการศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม การอนุรักษ์ การสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วสามารถนำมาประยุกต์ใช้องค์ความรู้จัดการทุนทางวัฒนธรรม ให้เกิดคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยผู้สำเร็จการศึกษาสามารถประกอบอาชีพ ข้าราชการ / พนักงานสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง , นักวิชการวัฒนธรรม , นักผลิตสื่อ /นักเขียนสารคดีวัฒนธรรม / ผู้ผลิตสารคดีวัฒนธรรมในรายการวิทยุ/โทรทัศน์ , อาชีพอิสระที่อาศัยทุนทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น อาทิ การผลิตของที่ระลึก โฮมสเตย์ เป็นต้น
กนกรัตน์ ศรียาภัย นักประชาสัมพันธ์ ข่าว
ศิริอร เพชรภิรมย์/ สรัญ เพชรรัตน์ ภาพ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษำร์ธานี b>
{AdmirorGallery}news-evens/2017-09-12-Transfer-knowledge-from-brother-to-sister{/AdmirorGallery}