สถาบันวิจัย มรส.ลงชุมชน ร่วมยกระดับผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือ ต่อยอดสู่สากล
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมกับทีมนักวิจัยในโครงการนวัตกรรมระบบการพัฒนาและการจัดการท่องเที่ยวบนฐานชุมชนเชิงสร้างสรรค์ฯ ลงพื้นที่วิจัยเพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการ การยกระดับกระบวนการผลิตและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจืออบแห้ง ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดเทศบาล ณ ตำบลท่าขนอน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 และได้ส่งมอบตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดเทศบาล ณ ตำบลท่าขนอน มุ่งยกระดับมาตรฐานคุณภาพการผลิตเห็ดหลินจือแดงอบแห้งสู่ระดับสากล
ผศ.อภิชาติ พัฒนวิริยะพิศาล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นอีกมิติหนึ่งที่จะพัฒนาองค์รวมการวิจัยในชุดโครงการ นวัตกรรมระบบการพัฒนาและการจัดการท่องเที่ยวบนฐานชุมชนเชิงสร้างสรรค์ฯให้สมบูรณ์ ซึ่งจากวิถีการผลิตบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนโดยที่มุ่งหวังให้บุคคลในท้องถิ่นใช้ทรัพยากรในชุมชนเป็นฐานการบริหารจัดการ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในชุมชนต่อการจัดการ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหวังให้นำผลการวิจัย ไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ได้จริง เป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน
อาจารย์อรุโณทัย เจือมณี สาขาวิทยาศาสตร์การอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เปิดเผยว่า ในส่วนของงานวิจัยในนามของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เข้ามาศึกษากระบวนการเพื่อให้ได้เห็ดหลินจือแดงอบแห้งที่ได้คุณภาพที่ดีรวมไปถึงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความเหมาะสม เพื่อให้เป็นที่รู้จักและสามารถนำไปสู่การจัดจำหน่ายในระดับจังหวัดได้ ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 38 คน นับว่ามีความเข้มแข็งและมีความสามัคคีที่จะร่วมกันพัฒนาให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น
อาจารย์อรุโณทัย กล่าวต่อไปว่า ในด้านการค้นหานวัตกรรมระบบการพัฒนาและจัดการการท่องเที่ยวบนฐานชุมชนเชิงสร้างสรรค์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินกิจกรรมการจัดการท่องเที่ยวในลักษณะการท่องเที่ยวแนวคิดใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมเพราะการสร้างคุณค่าจากฐานทรัพยากรในชุมชนจะส่งผลต่อมูลค่าเพิ่มในกิจกรรมการ โดยชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่ พัฒนาพื้นที่ให้มีศักยภาพเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน
เทพพิทักษ์ ยศหมึก นักประชาสัมพันธ์ เขียนข่าว
สมยศ นุ่นจำนงค์ พนักงานห้องปฏิบัติการ ถ่ายภาพ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
{AdmirorGallery}news-evens/2017-09-22-Elevated-Ganoderma-lucidum3{/AdmirorGallery}