20 ต.ค. 2017

มรส. ผนึกกำลัง 38 คูณ 3 สร้างแผ่นดินให้เป็นพลัง มุ่งเป้ายกระดับการศึกษา-พัฒนาท้องถิ่น ตามพระราโชบาย ร.10

alt

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นเจ้าภาพรวบรวมโครงการ 38×3 มุ่งยกระดับการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น ด้วยการน้อมนำพระราโชบายในหลวง รัชการที่10 มาเป็นแนวทางหลัก โดยมีอธิการบดีและรองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผนจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศร่วมระดมความคิด และนำเสนอภาพรวมไปยัง สำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนดัน โครงการเข้าที่ประชุม ครม.

อธิการบดีและรองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผนจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศร่วมประชุมยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2560 โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นเจ้าภาพและรวบรวมโครงการพัฒนาท้องถิ่น (โครงการ 38×3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง จัดทำชุดโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่แห่งละ 3 ชุดโครงการ) ซึ่งประธาน ทอป.มรภ. จะได้นำเสนอภาพรวมต่อ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ คือ มหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน มีความสำคัญ 3 ประการ คือ 1. มีหน้าที่สร้างและพัฒนาท้องถิ่น 2. พัฒนาคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาท้องถิ่น และ 3. การพัฒนาครู เพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏเติบโตจากความเป็นวิทยาลัยครู ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏต้องหลอมรวมสิ่งเหล่านี้ให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของไทยแลนด์ 4.0 เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และอย่างยั่งยืน ด้วยการนำศักยภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏของแต่ละแห่ง แต่ละภาคออกมา จนสามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศได้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า คำว่าพลังแผ่นดิน คือ พลังของประชาชน ที่มีการนำองค์ความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการสร้างคุณค่านำมาแปลเปลี่ยนเป็นมูลค่า มหาวิทยาลัยราชภัฏจะเป็นผู้สร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ที่ใช้แนวคิด Local Start Up นำวัตถุดิบของท้องถิ่นที่มีอยู่โดยรอบมาสร้างมูลค่าเกิดการเติบโตของธุรกิจ และเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ภายในครอบครัวได้

รศ.ดร. ชูศักดิ์ เอกเพชร รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า ผลจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบัน ที่ทรงมอบพระบรมราโชบายด้านการศึกษาผ่านองคมนตรี ในใจความตอนหนึ่งว่า “ให้แนะนำมหาวิทยาลัยราชภัฏ ให้ทำงานให้เข้าเป้าในการยกระดับการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน” แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระองค์ ทรงสนพระทัยระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอันเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ โดยทอดพระเนตรเห็นถึงศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาเป็นอย่างลึกซึ้ง ถึงแก่นแท้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งผลิตครูที่มีคุณภาพ เป็นแหล่งความรู้ที่จะบริการวิชาการที่จะพัฒนาท้องถิ่น ที่สำคัญคือเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนมีความรักชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์

ผศ.ดร. ณรงค์ พุทธิชีวิน ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เผยว่า การจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศให้สัมฤทธิ์ผลและสอดคล้องกับพระราโชบายที่ ในหลวง รัชกาลที่ 10 ได้มอบให้กับองคมนตรี
นั้น เป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลที่เด่นชัดในด้านการพัฒนาพื้นที่ จึงมีแนวทางให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ38 แห่ง จัดทำชุดโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่แห่งละ3 ชุดโครงการ (โครงการ 38 x 3) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีจึงเห็นความสำคัญในการจัดการประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏกับยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นขึ้นเพื่อเป็นการสังเคราะห์โครงการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง และระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในการนำเสนอโครงการพัฒนาท้องถิ่นในภาพรวมของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศในการประชุมครม.สัญจรในครั้งต่อไป

เทพพิทักษ์ ยศหมึก นักประชาสัมพันธ์ ข่าว

นายอดิสรณ์ เนาวโคอักษร นักประชาสัมพันธ์ ภาพ

ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

{AdmirorGallery}news-evens/2017-10-20-sru-rajabhats{/AdmirorGallery}