มรส.ผนึกกำลังสร้างแผนการดำเนินงานแปรรูปผลิตผลชุมชน อัดงบสนับสนุน หวังยกระดับคุณภาพชีวิตสนองความต้องการชุมชน
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี(มรส.) โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น จัดประชุมหารือร่วมกับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิทยาการจัดการ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ณ สำนักงานศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (University Business Incubator) UBI มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้เพื่อการดำเนินการกำหนดแผนงานการช่วยเหลือและให้ความรู้พร้อมทั้งการจัดฝึกอบรมเบื้องต้นในการแปรรูปผลิตผล การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และเทคนิควิธีการใช้ช่องทางตลาด Online เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นของฝากของชำร่วย
ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ กล่าวถึงแผนการดำเนินการว่า งานบริการวิชาการท้องถิ่นได้ขอความอนุเคราะห์และจัดประชุมหารือร่วมกับอาจารย์เตชะธรรม สังข์คร อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีก ผศ.นินธนา เอี่ยมสะอาด อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการทั่วไป และคุณฐิติมา บุญยัง ผู้จัดการสำนักงานศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI พร้อมทั้ง ดร.อุราภรณ์ เรืองวัชรินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร นอกจากนี้ ยังมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คือ อาจารย์ณัฐพล เมฆแดง และ อาจารย์สัญธิพร พุ่มคง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ร่วมให้ข้อคิดเห็นต่อการประชุมในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากการสรุปผลการประชุมแกนนำในท้องถิ่นตำบลขุนทะเล จำนวน 10 หมู่บ้านเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมานั้น มหาวิทยาลัยควรดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องการคิด Brand ของผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนขุนทะเล และจัดอบรมให้ความรู้ด้านวิธีการแปรรูปและถนอมอาหาร พร้อมทั้งเทคนิคการตลาด Online ที่หลากหลายผลิตภัณฑ์ หรือ หนึ่ง Brand ต่อ หนึ่งผลิตภัณฑ์
ในส่วนของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ผู้จัดการสำนักงานศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI ได้กล่าวว่า ควรพิจารณาถึงวัตถุดิบและผลิตผลที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เช่น ควรใช้วัตถุดิบในการจัดทำบรรจุภัณฑ์ในลักษณะใด เพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐานสะอาดถูกหลักอนามัย นอกจากนี้ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมยังเป็นจุดขายในการตัดสินใจซื้อของนักท่องเที่ยวอีกด้วย อย่างไรก็ตามศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI ได้พิจาณาถึงกระบวนการต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมด และได้วิเคราะห์งบประมาณในการดำเนินงานโครงการแล้วค่อนข้างสูงเพราะต้องจัดทำรูปแบบตัวอย่างให้ชุมชนได้พิจารณาก่อน ซึ่งมีจำนวนถึง 7 ชนิด ดังนั้นจึงขอสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งให้กับโครงการนี้ เพราะเล็งเห็นแล้วว่าชุมชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
เทพพิทักษ์ ยศหมึก ข่าว
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
{AdmirorGallery}news-evens/2017-11-14-Create-privatization-plan{/AdmirorGallery}