05 ก.ย. 2019

ชาวบ้านเมืองฝนแปดแดดสี่ชื่นใจ…มรส.ร่วมสร้างรายได้

alt

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระบรมราโชบายต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏในการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” ให้มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงของชาติ ด้วยการยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน โดยเน้นด้านการพัฒนาท้องถิ่นเป็นพิเศษ ให้ทุกสถาบันต้องทำงานให้เข้าถึงประชาชน พร้อมรับทราบปัญหาความต้องการ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาทางช่วยเหลือแก้ไข และปรับตัวให้เหมาะสมตามสภาพและประเพณีของท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

จากหลักการดังกล่าว นำมาสู่การชี้เป้าเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) โดยได้รับมอบหมายให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในพื้นที่ ๓ จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี ชุมพรและระนอง ด้วยการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมอาชีพครัวเรือนยากจน ล่าสุดทีมงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มรส. รุกหน้าพื้นที่ตำบลนาคา และตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง เร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ ถ่ายทอดกระบวนการจัดการด้านการส่งเสริมการขาย การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน การทำบัญชีครัวเรือน การกำหนดราคาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันของชุมชน ตลอดจนการสร้างมาตรฐาน อย. GMP และ GAP

นายบ่าหรี หมาดหมัน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษบ้านทุ่งถั่ว ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง กล่าวว่า ก่อนที่ มรส.จะเข้ามาดำเนินโครงการ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรด้วยการปลูกผักแบบปลอดสารพิษและจัดจำหน่ายในราคาที่แตกต่างกันออกไป แต่ตั้งแต่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เข้ามาถ่ายทอดความรู้ พร้อมสนับสนุนส่งเสริมความคิดในการจัดกระบวนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผักปลอดสารพิษของบ้านทุ่งถั่ว ทำให้ชาวบ้านมีความรู้และความเข้าใจยิ่งขึ้น หลังจากนี้จะรวมกลุ่มปลูกผักและนำไปจำหน่ายโดยมีราคากลาง พร้อมผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานของชุมชน เพื่อให้ผักปลอดสารพิษบ้านทุ่งถั่วเป็นที่รู้จักและชาวบ้านก็มีรายได้เพิ่มขึ้น

ด้านนางกาญจนา ดาวเรือง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำขนมบ้านโตนกรอย ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง เปิดเผยว่า การตั้งกลุ่มของชุมชนมีการผลิตสินค้าชุมชน เช่น ขนมกล้วยนัว ขนมเค้ก ขนมกล้วยฉาบ ขนมทองม้วน และขนมไข่ โดยมีการจำหน่ายเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่บ้านโตนกรอยเท่านั้น ทำให้มีรายได้จำกัด แต่เมื่อได้รับการอบรมความรู้จาก มรส. ทำให้สมาชิกในกลุ่มเข้าใจถึงกระบวนการจัดการตั้งแต่การผลิตขนมที่ถูกต้องตามสุขลักษณะทั้งผู้ผลิตรวมถึงสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ แผนการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย ตลอดจนวิธีการขอมาตรฐานจากองค์การอาหารและยา (อย.) การจัดทำมาตรฐาน GMP เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการบริโภค รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย

ส่วน นางสนธยา สืบเหตุ ผู้ใหญ่บ้านบ้านทะเลนอก ซึ่งเป็นผู้ดูแลกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลบ้านทะเลนอก กล่าวว่า ชุมชนบ้านทะเลนอกมีผลิตภัณฑ์ อาทิ ปลาเค็มฝังทราย กะปิ ปลาหวาน ปลาเค็มแดดเดียว เป็นต้น ซึ่งมีวิธีการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน แต่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ ขยายช่องทางการจัดจำหน่าย โดย มรส. ได้นำตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตให้ได้มาตรฐาน การจัดทำตราสัญลักษณ์สินค้าของชุมชนให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านเข้าใจและสามารถผนึกกำลังในการเร่งการผลิตเพื่อจัดจำหน่ายไปยังตลาดภายนอกชุมชนได้มากขึ้นหวังสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ชาวบ้านสามารถเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป

กนกรัตน์ ศรียาภัย นักประชาสัมพันธ์ ข่าว/ภาพ
เทพพิทักษ์ ยศหมึก นักประชาสัมพันธ์ รายงาน
ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

{AdmirorGallery}news-evens/01-2019-news/2019-09-05-make-income{/AdmirorGallery}