นศ.มรส. พบ “นกเค้าเหยี่ยว” สัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 นายศักดิ์นนท์ ศรีฟ้า นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการจัดการทั่วไป คณะวิทยาการจัดการ และเป็นรองนายกองค์การนักศึกษาภาคปกติ ประจำปีการศึกษา 2563 ได้พบนกชนิดหนึ่งมีอาการบาดเจ็บบริเวณปีก ไม่สามารถบินได้ นอนอยู่กลางถนนภายในมหาวิทยาลัย ด้วยความสงสารและเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยจากสุนัขหรือสัตว์ชนิดอื่น จึงได้นำนกมาให้นายวราสินธุ์ หยีอาเส็ม หัวหน้างานกิจกรรมและพัฒนานักศึกษา กองพัฒนานักศึกษา เป็นผู้ดูแลอาการเบื้องต้น ด้วยความไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นนกสายพันธุ์อะไร นายวราสินธุ์ จึงได้ถ่ายภาพนกดังกล่าว ส่งไปสอบถามในเพจเฟสบุ๊คกลุ่ม งูไทยอะไรก็ได้ all about Thailand Snake ซึ่งในกลุ่มดังกล่าวมีสมาชิกเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์สัตว์ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะสัตว์ป่าคุ้มครอง และได้มีการประสานจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี รับเรื่องและประสานทีมงานสัตวแพทย์ไว้เบื้องต้น ต่อมาทราบว่านกดังกล่าวมีชื่อว่า “นกเค้าเหยี่ยว” เป็นสัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 หากผู้ใดมีไว้ในครอบครองจะถือว่าผิดกฎหมาย
ต่อมาอาจารย์กนกอร ทองใหญ่ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในทีม Save Wildlife Thailand ฝ่ายวิชาการสัตว์ป่า และได้รับทราบกรณีของนกชนิดนี้ที่มีการส่งเข้าไปสอบถามในกลุ่มงูไทยอะไรก็ได้ all about Thailand Snake ได้ดำเนินการประสานงานดังกล่าวเป็นเบื้องต้นกับทีมงาน SWT และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี และรับเป็นผู้ดูแลนกเค้าเหยี่ยวที่มีอาการบาดเจ็บบริเวณปีก โดยมีการปรึกษาหารือกับทีมสัตว์แพทย์โรงพยาบาลสัตว์คลองหลวง เพื่อประเมินอาการและรักษา เบื้องต้นไม่มีอาการน่าเป็นห่วง นกเค้าเหยี่ยวสามารถกินน้ำและอาหารเองได้ เคลื่อนไหวลำตัวได้ แต่บินไม่ได้ หลังจากนี้จะปฐมพยาบาลให้หายดีเป็นปกติและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แต่หากมีอาการสาหัสทางหน่วยงานข้างต้นอาจจะรับไปให้สัตวแพทย์รักษาต่อไป
สำหรับนกเค้าเหยี่ยว มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Brown Boobook เป็นนกประจำถิ่น ที่มีลักษณะคล้ายนกเค้าหรือนกฮูก แต่หัวกลมโต ไม่มีวงหน้าชัดเจน หัวและสีน้ำตาลเข้มแกมเทาดำ ตาสีขาว ตาเหลือง ปีกสีน้ำตาลเข้มไม่มีลาย คอและลำตัวด้านล่างมีลายรูปหัวใจเรียงเป็นแทบสีน้ำตาลแดงเข้มสลับขาว หางยาวมีลายแถบสีเข้มสลับอ่อน เป็นนกที่ช่วยรักษาและปรับสมดุลความเป็นธรรมชาติ กินหนู งู และสัตว์ตัวเล็กชนิดต่างๆ เป็นอาหาร อาศัยในพื้นที่ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ดิบชื้น และชายป่า นั่นแสดงว่าพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลายทางชีวภาพที่น่าสนใจและมีทรัพยากรสัตว์ที่ควรอนุรักษ์
นายทศพล บัวแสง/นายอภิสิทธิ์ รักเขียว นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ภาพ
กนกรัตน์ ศรียาภัย นักประชาสัมพันธ์/ รายงาน