06 ก.ค. 2021

การจัดการทางวัฒนธรรม ม.ราชภัฏสุราษฎร์ฯ ลงพื้นที่เกาะพะงัน…นำแนวคิด “Back to the basic” ดึงวิถีการย่างมะพร้าวสู่การท่องเที่ยวพึ่งรายได้ด้วยตนเอง

สาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ลงพื้นที่ อำเภอเกาะพะงัน ภายใต้การดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากมะพร้าวตามโครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) นำแนวคิดการกลับสู่ความดั้งเดิม (Back to the basic) ของภูมิปัญญาบรรพบุรุษ หวังดึงเป็นจุดขายนักท่องเที่ยวดันการย่างมะพร้าวในอดีตสู่การสานต่อสร้างรายได้พร้อมพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแก่ชุมชน

.

ดร.ศิริอร เพชรภิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรส. เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (Covid-19) จึงทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะการกระทบกับเศรษฐกิจและรายได้หลักของประชาชน เช่นเดียวกับประชาชนในพื้นที่อำเภอเกาะพะงัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของประเทศ รายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวเพื่อดื่มด่ำและศึกษาธรรมชาติบนเกาะ และเมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวนี้ จึงเป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวมีจำนวนน้อยลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของประชาชนในท้องถิ่น

.

ดร.ศิริอร เปิดเผยต่อไปว่า เกาะพะงันมีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นเกี่ยวกับมะพร้าวที่ควรค่าแก่การศึกษา ค้นคว้า เก็บข้อมูล และอนุรักษ์ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีกลับมาสู่วิถีดั้งเดิม (Back to the basic) ตามภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษแนะนำ สั่งสอน เช่น การย่างมะพร้าวแบบโบราณ การผลิต สิ่งของอุปโภคบริโภคจากทุกส่วนของต้นมะพร้าว ที่แฝงไปด้วยภูมิปัญญาและสามารถช่วยสร้างรายได้แก่ครอบครัวอย่างยั่งยืน จึงควรมีการส่งเสริม พัฒนาอนุรักษ์ ต้นมะพร้าวให้คงอยู่ในพื้นที่ให้มากที่สุดเพราะมากกว่ารายได้ คือ จิตวิญญาณของบรรพบุรุษที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

.

สำหรับการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากมะพร้าวตามโครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ภายใต้การบริหารจัดการงานโดยโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตามพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย ด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการและทักษะวิชาชีพแก่ชุมชนท้องถิ่นให้สามารถเรียนรู้และพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การสร้างเพจขายผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวแบบ online” โดย อาจารย์พงศ์พิพัฒน์ มากช่วย อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ การสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญามะพร้าว โดย อาจารย์เกสสินี ตรีพงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว และการสร้างเนื้อหา (Content) การประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์มะพร้าวเพื่อการท่องเที่ยว โดย คุณกนกรัตน์ ศรียาภัย นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นวิทยากร เมื่อวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2564 ณ ตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

.

อดิสรณ์ เนาวโคอักษร รายงาน

กนกรัตน์ ศรียาภัย /ภาพ-ข่าว

#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี