ทีมไข่เค็มอคาเดมี มรส. คว้าสองรางวัลสื่อสร้างสรรค์ ในโครงการ Thai PBS Young Content Creator
นักศึกษาทีมไข่เค็มอคาเดมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทมัลติมีเดีย และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทโทรทัศน์ ในการประกวดรอบชิงชนะเลิศโครงการ Thai PBS Young Content Creator จัดโดยไทยพีบีเอส และ กทปส. สำนักงาน กสทช. โดยผลิตสื่อสารคดีในประเด็นเศรษฐกิจปากท้องเรื่องคนเลี้ยงหอย ที่นำเสนอเรื่องราวของผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงหอยนางรม ซึ่งเป็นการทำประมงชายฝั่งรอบพื้นที่อ่าวบ้านดอนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้ของนักศึกษาถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนที่ทำให้เกิดทักษะในการทำงานจริงของนักศึกษา เชื่อมโยงการนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการสื่อสารไปใช้เพื่อการเผยแพร่องค์ความรู้ชุมชนและพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เตชธรรม สังข์คร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงการสร้างผลงานของนักศึกษาว่า เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นส่งเสริมการผลิตบัณฑิตด้วยประสบการณ์การเรียนรู้และการสร้างนักคิดเชิงสร้างสรรค์ โดยนักศึกษาจะได้ฝึกทักษะการเป็นนักสื่อสารคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล
อาจารย์ ดร.ทัศนาวดี แก้วสนิท อาจารย์ที่ปรึกษาทีมไข่เค็มอคาเดมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงที่มาของการเลือกประเด็นในการผลิตสื่อว่า การเพาะเลี้ยงและการจัดจำหน่ายหอยนางรมเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจปากท้องของคนสุราษฎร์ฯ และเป็น Surat signature อย่างหนึ่งที่อยู่ในคำขวัญของจังหวัด โดยทีมมีกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานด้วยการบูรณาการองค์ความรู้เรื่องการสื่อสารชุมชนร่วมกับการรายงานข่าวเพื่อผลิตสื่อเผยแพร่ผ่านช่องทาง Online และ On-Air ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
นายชัญญา สุขชู หัวหน้าทีมไข่เค็มอคาเดมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่เข้าร่วมโครงการ Thai PBS Young Content Creator ที่ผ่านมา ทำให้ได้ความรู้และพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารเพิ่มเติมนอกเหนือจากในห้องเรียน ซึ่งสามารถที่จะนำมาปรับใช้ในพัฒนาผลงานของตัวเองในการทำงานได้ในอนาคต และในช่วงที่เข้าร่วมโครงการเป็นช่วงที่โควิดกำลังระบาดเป็นอย่างหนัก ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ด้วยความอดทนและพยายาม รวมถึงทีมงานที่ทุ่มเทในการลงพื้นที่และศึกษาหาข้อมูล ทำให้ทำผลงานออกมาได้เสร็จสมบูรณ์และสามารถคว้ารางวัลนี้มาได้อย่างภาคภูมิใจ
ทั้งนี้ โครงการ Thai PBS Young Content Creator มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะด้านแนวคิดภาควิชาการและภาคปฏิบัติ การผลิตรายการ การเล่าเรื่อง การถ่ายวิดีโอและการตัดต่อ สำหรับเตรียมพร้อมการเป็นนักสื่อสารมวลชนในอนาคต โดยได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ ณ กรุงเทพฯ และศูนย์ข่าวภูมิภาคของไทยพีบีเอส เรียนรู้การผลิตรายการกับคนสื่อมืออาชีพจาก Thai PBS และผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก รวมถึงผลิตผลงานเข้าร่วมการประกวดในประเด็นเศรษฐกิจปากท้อง หรือระบบอุปถัมภ์ หรือ Future Skill โดยในการประกวดรอบชิงชนะเลิศ แบ่งรางวัลออกเป็นประเภทโทรทัศน์ (รูปแบบ ON AIR) รางวัลที่ 1-3 และประเภทมัลติมีเดีย (รูปแบบ ONLINE) รางวัลที่ 1-3 และรางวัล Popular Vote ซึ่งทุกรางวัลได้รับเงินทุนการศึกษาพร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
#KaiKemAcademy #ไข่เค็มอคาเดมี
#ThaiPBS #ThaiPBSAcademy
#ไทยพีบีเอสพื้นที่แห่งการเรียนรู้