มรส.เดินหน้าต่อ โครงการธนาคารขยะเพื่อชุมชนต้นแบบ หวังส่งเสริม สนับสนุน แตะต่อยอด มหาวิทยาลัยขยะเป็นศูนย์
……………………………………………………………………………….
วันที่18 ตุลาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้เป็นผู้กล่าวสรุปผลการดำเนินงาน โครงการธนาคารขยะเพื่อชุมชนต้นแบบ:สถานีที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG Station) ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ถึงเดือนกันยายน 2566 ขณะนี้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังคงเดินหน้าต่อ โดยความมุ่งมั่นตั้งใจของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีที่จะลดปริมาณขยะ และการจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ( United Nations Development Programme : UNDP) โดยการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารออมสิน ดาร์กิลล์ ประเทศไทย และ Thailand Policy Lab ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของมหาวิทยาลัยฯ ไปสู่เป้าหมายที่มีขยะเป็นศูนย์ หรือ Zero Waste ในอนาคต โดยมีนายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธาน ณ ห้องประชุมครุพัฒน์ ชั้น2 คณะครุศาสตร์
:
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วัฒนา รัตนพรหม กล่าวว่า การสรุปผลการดำเนินงานทั้งในส่วนของขยะรีไซเคิล และการจัดการขยะอินทรีย์ ตลอดจนการถอดบทเรียนการจัดการขยะของมหาวิทยาลัยฯอันนำไปสู่ต้นแบบในองค์กรหรือชุมชนอื่นไปสู่ระดับเมือง ซึ่งต้องขอบคุณโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยผู้ดำเนินโครงการ คาร์กิลล์ ประเทศไทย และธนาคารออมสิน ผู้สนับสนุนโครงการฯที่ทั้งสนับสนุนทั้งความรู้ทางวิชาการ งบประมาณในการดำเนินงานจนประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของมหาวิทยาลัยฯ โดยมหาวิทยาลัยจะยังคงมุ่งมั่นดำเนินงาน ส่งเสริม สนับสนุน และต่อยอดโครงการนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของมหาวิทยาลัยฯ คือมีขยะเป็นศูนย์ หรือ Zero Waste ต่อไป และยังเป็นการสนับสนุนให้การจัดการขยะตามแผนพัฒนาจังหวัดสุราษฎร์ธานีระยะ 20 ปี บรรลุเป้าหมายอีกด้วย
:
นภัทร ส้มแก้ว //เขียนข่าว
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร //ถ่ายภาพ