มรส.เติมทักษะนักพัฒนาชุมชนให้เป็นนักเขียน กลั่นประสบการณ์ตรงเป็นบทความเพื่อท้องถิ่น
ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีเดินเครื่องสร้าง 15 นักพัฒนาชุมชนให้เป็นนักเขียนเลือดใหม่ กลั่นประสบการณ์ตรงจากการลงพื้นที่ให้เป็น 15 บทความด้านการพัฒนาท้องถิ่น รองอธิการบดีชี้ ทำงานกับชุมชนมากว่า 40 ปี แต่ขาดการบันทึกและเผยแพร่ในรูปของงานเขียน
วานนี้ (4 ส.ค. 2559) ณ ศูนย์บูรณาการการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในจุลสารบริการวิชาการท้องถิ่น” ให้กับตัวแทนจากคณะและหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 15 คน โดยมี ดร.กฤษณะ ทองแก้ว อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ นางวันวนัทธ์ วรภู นักประชาสัมพันธ์ และนายอดิสรณ์ เนาวโคอักษร ช่างภาพประจำฝ่ายสื่อสารองค์กร เป็นวิทยากร
ผศ.ดร.สุนทร พูนเอียด รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ เปิดเผยว่า กว่า 40 ปีที่ มรส.ได้ลงพื้นที่พัฒนาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้น คือ “งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น” ได้รับการสนับสนุนจากคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย ในการส่งบุคลากรมาร่วมพัฒนาท้องถิ่นและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่น่าพอใจยิ่ง แต่ยังขาดการบันทึกและเผยแพร่ผลงานในรูปแบบของงานเขียน จึงจัดการอบรมขึ้นเพื่อให้กลุ่มคนที่ทำงานกับชุมชนเหล่านี้สามารถกลั่น ประสบการณ์ตรงให้เป็นบทความได้
“นักเขียนใหม่ทั้ง 15 คน เป็นคนที่ลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนท้องถิ่นด้วยตนเอง จึงมีข้อมูลพร้อมและเข้าใจงานอย่างลึกซึ้ง หากได้พัฒนาทักษะการเขียนก็จะสามารถสร้างงานเขียนที่มีคุณภาพและเป็น ประโยชน์ต่อท้องถิ่นได้ ทั้งนี้งานเขียนของนักเขียนทั้ง 15 คนจะได้รับการตีพิมพ์ในจุลสารบริการวิชาการท้องถิ่นฉบับปฐมฤกษ์ ซึ่งมีกำหนดออกในวันที่ 20 ส.ค.นี้” รองอธิการบดีกล่าว
นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เผยแพร่ผลงานวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ สู่ท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ และยังสนองโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาโรงเรียน ตชด.และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชด้วย หากการทำงานทั้งหมดได้รับการบันทึกและเผยแพร่อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรก็จะ เป็นกรณีศึกษาที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
นางสาวกฤษณา สังขมุณีจินดา อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มรส. ผู้เข้าอบรม กล่าวว่า ตนลงพื้นที่พัฒนาชุมชนร่วมกับงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นมากว่า 2 ปี โดยรับผิดชอบดูแลด้านสุขภาวะและสุขอนามัยของชุมชน การอบรมในวันนี้ทำให้ตนสามารถเรียบเรียงงานที่ทำให้กลายเป็นบทความได้ซึ่ง เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์และใช้ต่อยอดการพัฒนาท้องถิ่นได้ต่อไป