พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงเปิดนิทรรศการ “ผ้ายกพัตราภรณ์ล้ำค่า ภูษาสองแผ่นดิน” และประทานรางวัลแก่ผู้มีคุณูปการต่องานด้านศิลปวัฒนธรรม ในการประชุมวิชาการสภาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566
——————————-
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ณ โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาการท่องเที่ยวและสหวิทยาการสมุย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดนิทรรศการ “ผ้ายก พัสตราภรณ์ล้ำค่า ภูษาสองแผ่นดิน” Brocade Textile : Treasures of Two Nations
และประทานรางวัลแก่ผู้มีคุณูปการต่องานด้านศิลปวัฒนธรรม ในการประชุมวิชาการสภาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 โดยมี ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) กล่าวคำกราบทูล พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการในท้องถิ่นสำนักศิลปและวัฒนธรรม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และผู้เกี่ยวข้องเฝ้ารับเสด็จ
.
สำหรับการประชุมวิชาการสภาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 เป็นร่วมมือกันทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมในลักษณะเครือข่ายที่จะทำให้การดำเนินงานตามภารกิจของสำนักศิลปะและวัฒนธรรมบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในด้านการสนับสนุน ถ่ายทอด ส่งเสริม และเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรม รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพราะการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมจะลดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนที่อาจทำให้สิ้นเปลือง ทรัพยากร บุคคลากร งบประมาณ และเวลา นอกจากนี้ การดำเนินงานในลักษณะเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมจะสร้างพลังในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้านศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายใหญ่เพื่อเชื่อมต่อโยงใย (Connect) บุคลากรที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะทำให้คนมาเจอกันได้อย่างกว้างขวาง นับว่าเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นไปอย่างมีพลังและต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนผลงานด้านศิลปวัฒนธรรม
.
โดยในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการผ้ายก พัสตราภรณ์ล้ำค่า ภูษาสองแผ่นดิน จัดแสดงผลงานเกี่ยวกับมรดกสิ่งทอที่ล้ำค่า สะท้อนถึงภูมิปัญญาการทอผ้าโบราณทั้ง 4 ภูมิภาคของประเทศไทย ที่มีความโดดเด่น งดงาม รวมถึงผ้ายกของอินโดนีเซีย ที่เป็นภูมิปัญญาการทอผ้าโบราณใช้ในโอกาสพิเศษ อาทิ งานเฉลิมฉลอง และงานมงคลต่างๆ ส่วนของผ้าไทยในสมัยโบราณมีแหล่งผลิตที่สำคัญภาคใต้ อาทิ ผ้ายกพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ้ายกเกาะยอ จังหวัดสงขลา ผ้ายกนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง โดยผ้ายกแต่ละภูมิภาคสะท้อนถึงมรดกสิ่งทอตามถิ่นที่อยู่และกลุ่มชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในส่วนผ้ายกภาคกลาง สะท้อนถึงมรดกความหลากหลายของกลุ่มชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งการย้อมสี การใช้สีธรรมชาติ อาทิ ผ้าขาวม้า จังหวัดกาญจนบุรี ผ้าบาติกลายมลายู จังหวัดเพชรบุรี ผ้าใช้ในราชสำนักของ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในส่วนของภาคเหนือ จัดแสดงเกี่ยวกับผ้าในวัฒนธรรมพุทธศาสนาของชาวล้านนา อาทิ อาสนะ ตุง การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่า
——————————-